พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า เจ้าพระยาวิไชเยนทร์เป็นผู้ดำริเกี่ยวกับการสร้างป้อมขึ้นที่เมืองบางกอก และได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขอให้สร้างป้อมขึ้นที่บางกอกไว้ทั้งสองฟากแม่น้ำ และทำสายโซ่ใหญ่ขึงขวางน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟาก สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมีมาทางทะเล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วย และโปรดให้เจ้าพระยาวิไชเยนทร์เป็นแม่กองก่อสร้างป้อมบางกอก หรือที่ในพระราชพงศาวดารบางฉบับ เรียกป้อมเมืองธนบุรีบ้าง ป้อมวิไชเยนทร์บ้าง แต่ในจดหมายเหตุนี้จะเรียกว่าป้อมบางกอกเพียงชื่อเดียวเพื่อมิให้สับสน
ป้อมบางกอกที่เจ้าพระยาวิไชเยนทร์สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นป้อมอิฐสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ มีสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำระหว่างป้อม มีคนเชื้อชาติแขกบ้าง เชื้อชาติโปรตุเกสบ้างเป็นผู้บังคับการป้อม มีทหารอาสาต่างชาติและทหารไทยรวมกันอยู่ประจำป้อมประมาณ 400 คน หลังจากสร้างเสร็จ ป้อมบางกอกได้แสดงอานุภาพเต็มที่ในคราวเกิดกบฏมักกะสัน ด้วยฝ่ายกบฏพยายามนำเรือหนีมาถึงบางกอกก็แล่นต่อไปไม่ได้ ด้วยติดโซ่ขึงขวางแม่น้ำอยู่ จึงถูกจับกุมได้ทั้งหมดู่
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง ทั้งในทางการทูตและการค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝรั่งเศส สังฆราช เดอลามอตต์ ลัมแบร์ต สังฆราชแห่งเบรีธ Monseigneur de la Motte Lambert, ?v?que de B?rythe) ได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา และได้รับอนุญาตให้ทำการสอนศาสนาในราชอาณาจักรไทยได้ จากนั้นบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสโดยความสนับสนุนของรัฐบาลก็ได้ขยายการค้าเข้ามายังราชอาณาจักรไทย โดยส่งนายบูโร เดลังด์ (Boureau Deslandes) มาเป็นผู้จัดตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2223
นายบูโร เดลังด์ ได้บันทึกถึงความสำคัญของบางกอกในรายงาน ซึ่งมีถึงบริษัทว่า
สำหรับการคมนาคมในสมัยนั้นอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะคลองหลอด 2 คลองที่ขุดขึ้น จะแบ่งบริเวณระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพารและราษฎรสามัญ ออกเป็น 3 ส่วนเกือบเท่า ๆ กัน และในแต่ละส่วนจึงมีน้ำล้อมรอบ ประกอบกับในเวลานั้นมีประชาชนอาศัยอยู่ในพระนครเป็นจำนวนน้อย จึงสามารถเลือกตั้งบ้านเรือนตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลองที่ขุดขึ้นใหม่ อันเป็นเส้นทางคมนาคมเดินทางไปมาค้าขายติดต่อกันได้โดยตลอด ส่วนชานพระนครมีคลองมหานาคที่ช่วยให้ประชาชนเดินทางเข้ามาพระนครสะดวกขึ้น สำหรับการคมนาคมทางบก ส่วนใหญ่ใช้ตรอกเป็นทางเดินเช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบุรี ต่อมามีการขยายตรอกออกเป็นถนนบ้าง มีการตัดถนนใหม่บ้าง ถนนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทางเดินแคบ ๆ เป็นถนนดินหรือไม่ก็ปูด้วยอิฐเรียงตะแคง จะมีถนนที่ขนาดใหญ่กว่าถนนอื่น ๆ คือ ถนนรอบพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ปูด้วยอิฐเหมือนกับถนนสายอื่น ๆ เช่นกัน ถนนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มี 9 สาย คือ
“พวกฮอลันดาพยายามจะทำการอยู่ 2 อย่าง คือ อย่างหนึ่งจะคิดเอาเมืองบันตำ อีกอย่างหนึ่งคิดจะเอาป้อมที่บางกอก (ป้อมนี้อยู่ริมแม่น้ำห่างจากปากน้ำประมาณ 10 ไมล์) เพื่อจะได้เป็นใหญ่ในการค้าขายในทะเลฝ่ายใต้ ความคิดนี้อาจจะเป็นการจริงได้ แม้ว่าพวกฮอลันดายึดบางกอกไว้ได้แล้ว ก็จะเป็นใหญ่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในทะเลแถบนี้ เพราะท่าเรือที่สำคัญอยู่ในเวลานี้ ก็เหลือแต่บางกอกแห่งเดียวเท่านั้น”
นายลานิเอร์ (Lanier) นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ได้เขียนไว้ในหนังสือ Relations de la France et du Royaume de Siam de 1662 a 1703 (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 27 เรื่อง ไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกันครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์) ว่า
“ทางฝ่ายบริษัทฝรั่งเศสก็รู้ดีว่า บางกอกนั้นเป็นแห่งที่สำคัญเพราะบางกอกเป็นทำเลท่ามกลางระหว่างอ่าวสยาม ท่าเรือต่างๆ ในพระราชอาณาเขตสยาม และท่าเรือในประเทศจีนด้วย แต่เมืองมะริดนั้นบริษัทก็อยากได้เหมือนกัน เพราะเป็นทำเลอันเหมาะสำหรับการค้าขายในอ่าวเบงกอล ทั้งบางกอกและมะริด ถ้าได้สร้างป้อมอย่างดี และมีทหารรักษาแข็งแรง มีท่าจอดเรืออย่างมั่นคง และสร้างโรงเก็บของใหญ่ ๆ ไว้หลายหลัง ก็คงจะทำให้สินค้าทั้งปวงในฝ่ายอินเดียและแหลมมลายูมารวมอยู่ในที่นี้ทั้งหมด เมื่อบางกอกและมะริดได้จัดอย่างว่านี้ได้แล้ว ก็เป็นทางป้องกันมิให้เรือฮอลันดา อังกฤษ และโปรตุเกส มาสู้ในการค้าขายได้ตั้งแต่ฝั่งคอรอมันเดลตลอดไปถึงเมืองญี่ปุ่นทีเดียว…
ในประเทศสยาม มีท่าเรือที่เป็นทำเลเหมาะและมั่นคงหลายแห่ง คือเมืองตะนาวศรี เมืองมะริด เมืองภูเก็ตอยู่ทางอ่าวเบงกอล ตรงกับที่ตั้งค้าขายของฝรั่งเศส ที่ฝั่งคอรอมันเดล เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองเพชรบุรี ก็อยู่ทางอ่าวสยาม และบางกอก ซึ่งเท่ากับเป็นลูกกุญแจของประเทศสยามฝ่ายใต้ ก็เป็นทำเลอันสินค้าทั้งปวงต้องมารวมอยู่ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าบางกอกตั้งอยู่ใกล้กับปากน้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองซึ่งอาจแข่งกับบาตาเวียได้”
ความคิดของฝรั่งเศสนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกรมท่าและการค้าของไทยขณะนั้น ด้วยหมายจะให้ฝรั่งเศสร่วมช่วยป้องกันอิทธิพลของอังกฤษและฮอลันดา ดังจะเห็นได้จากพระราชสาส์นที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีไปถวายสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อปีพุทธศักราช 2231 ได้ทรงย้ำความสำคัญของบางกอกว่า
“หม่อมฉันได้มอบเมืองด่านอันมีความสำคัญที่สุด พร้อมด้วยกำลังทหารแห่งราชอาณาจักรของหม่อมฉันตรงจุดที่อริราชศัตรูจะรุกล้ำเข้ามาย่ำยีไว้แก่กองทหารของฝ่าพระบาท ซึ่งหม่อมฉันส่งไปพิทักษ์รักษา”
บาทหลวงตาชาร์ด ก็ได้บันทึกความสำคัญของบางกอกไว้ในจดหมายเหตุการเดินทางครั้ง 2 เมื่อพุทธศักราช 2230 - 2231 ว่า
“ใคร ๆ ก็ตามย่อมพิจารณาเห็นว่าการที่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงมอบเมืองบางกอกกับเมืองมะริดไว้ในความดูแลของชาวฝรั่งเศสนั้น ย่อมเท่ากับฝากเมืองหน้าด่านที่สำคัญที่สุดแห่งรัฐสีมามณฑลและกุญแจแห่งราชอาณาจักรไว้ด้วยความไว้วางพระทัยในความโอบอ้อมอารีขององค์พระเจ้าอยู่หัวฝรั่งเศส กษัตริย์พระองค์นี้ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ทรงมีพระสติปัญญาเฉียบแหลมพอที่จะเล็งเห็นผลล่วงหน้าอันเนื่องจากข้อผูกพันดังนี้”
เมื่อเรือเลอโวตูร์ของฝรั่งเศสพานายบูโรเดลังด์ เดินทางมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2223 ขณะเรือผ่านป้อมที่บางกอก ไทยได้สั่งให้มีการยิงสลุตต้อนรับ การยิงสลุตครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวพันถึงตำนานธงชาติไทยด้วย มีปรากฏในจดหมายเหตุ ซึ่งฝ่ายฝรั่งเศสได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า
“เมื่อเรือเลอโวตูร์ได้มาถึงสันดอนเมืองสยาม มีรับสั่งว่าเมื่อเรือนี้แล่นผ่านป้อมที่บางกอกให้ป้อมที่บางกอกยิงสลุตรับ เป็นธรรมเนียมมาช้านานแล้วที่เรือต่าง ๆ ของสยามมักจะชักธงฮอลันดา เพราะเหตุว่าคงจะมีคนรู้จักมากว่าเป็นเรือค้าขาย และฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินสยามจนทุกวันนี้หามีธงอย่างใดเป็นเครื่องหมายไม่ เจ้าเมืองบางกอกไม่รู้จะชักธงอะไร จึงได้ชักธงฮอลันดาขึ้น กัปตันเรือเลอโวตูร์ให้คนมาบอกเจ้าเมืองบางกอกว่า ถ้าประสงค์ให้เรือฝรั่งเศสสลุตป้อมแล้ว ก็ขอให้เอาธงฮอลันดาลงเสีย และถ้าไม่มีธงชาติอื่นจะชักแล้ว ก็ให้ชักธงอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่จะพอใจ เจ้าเมืองบางกอกจึงได้เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงสีแดงขึ้นแทน”
ธงชาติไทยจึงได้ใช้ธงสีแดงต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้น การเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงได้เริ่มต้นขึ้นในปีพุทธศักราช 2228 สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงแต่งตั้งให้นายเชอวาลิเอร์ เดอโชมองต์ เป็นราชทูต และบาทหลวงเดอชัวสี (L’abb? de Choisy) เป็นอุปทูต เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา และได้หยุดพักค้างคืนที่บางกอกหนึ่งคืน นายเดอโชมองต์ได้ขึ้นพักค้างคืนที่ป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก ซึ่งภายในมีตึกเป็นที่รับรอง
ในระหว่างที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย ได้มีการปรึกษาหารือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในการที่จะสร้างป้อมใหม่ที่บางกอกให้ใหญ่โต ในที่สุดฝ่ายไทยได้ขอตัวเรือเอกเดอฟอร์แบง (Claude de Forbin) และนายช่างเดอลามาร์ (de Lamare) ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับราชทูตเอาไว้รับราชการอยู่ในเมืองไทยเพื่อควบคุมการสร้างป้อมที่บางกอกและทำแผนที่ ต่อมาเรือเอกเดอฟอร์แบง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิ์สงคราม มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับป้อมและเป็นเจ้าเมืองที่บางกอกด้วย
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2230 สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงส่งราชทูตมาเมืองไทยเป็นชุดที่ 2 มีนายเดอลาลูแบร์เป็นราชทูต พร้อมด้วยกองทหารฝรั่งเศสที่จะเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทย มีนายพลเดส์ฟาร์ช (G?n?ral Desfarges) เป็นผู้บังคับบัญชา กองทหารฝรั่งเศสนี้ได้ขึ้นประจำอยู่ที่ป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกซึ่งกำลังสร้างใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ (อยู่ระหว่างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และปากคลองตลาดในปัจจุบัน)
นายเดอลาลูแบร์ได้ไปชมการก่อสร้างป้อมใหม่นี้ด้วย โดยนายเซเบเรต์ได้จดหมายเหตุไว้ว่า
“รุ่งขึ้นวันที่ 20 ตุลาคม (พุทธศักราช 2230) เวลาเช้า ได้ไปยังป้อมฝั่งตะวันออกโดยทางราชการ ป้อมได้ยิงปืนใหญ่คำนับทุกกระบอก มองซิเออร์เดฟาร์ชก็ได้มาคอยรับอยู่ที่ริมตลิ่ง และกองทหารก็ถืออาวุธเรียงรายเป็น 2 แถวคอยต้อนรับ ทหารปอร์ตุเกสอยู่แถวหน้าปนอยู่กับทหารไทย จากนั้นจึงถึงกองทหารฝรั่งเศส ส่วนในป้อมเล็กสี่เหลี่ยมนั้นเต็มไปด้วยกองทหารไทยทั้งสิ้น
 
ในที่นี้ข้าพเจ้าจะงดไม่อธิบายเล่าถึงป้อม เพราะถ้าจะดูตามแผนที่ซึ่งได้ส่งมาพร้อมกับรายงานนี้แล้วนั้น ก็อาจจะเข้าใจได้ว่าป้อมนั้นมีรูปร่างสัณฐานอย่างไร ดีกว่าจะเล่าด้วยปากหรือตัวหนังสือ แผนที่ป้อมนั้นมองซิเออร์เดอลามาร์เป็นผู้ทำขึ้น แต่ในที่นี้จะต้องกล่าวความแต่ข้อเดียวซึ่งหามีปรากฏในแผนที่ไม่ คือว่าพื้นที่ดินในป้อมนี้เป็นเลนเป็นโคลน ถูกแดดหน้าก็แห้งแข็งเหมือนจะเป็นดินแข็งไปทั้งหมด แต่ครั้นขุดลงไปลึก 6 ฟุตเท่านั้นก็เป็นเลนเป็นตมไปหมด เมื่อเอาท่อนเหล็กยาวตั้ง 20 - 25 ฟุตแทงลงไป ก็ไม่พบดินแข็งเลย ซึ่งพื้นที่ดินเป็นเช่นนี้ก็ต้องนับว่าเป็นพื้นที่เลวอย่างที่สุด ครั้นแล้วเราจึงได้กลับข้ามฟากไปที่ป้อมฝั่งตะวันตกที่ได้พักนอนเมื่อคืนนี้”
ป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2231
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากขึ้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใกล้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเพทราชาทรงควบคุมพระราชอำนาจไว้ได้ ไม่โปรดให้มีกองทหารฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จึงได้ส่งทหารไปขับไล่ฝรั่งเศสออกจากป้อมบางกอก กองทหารฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก มารวมกันอยู่ที่ป้อมฟากตะวันออก ข้างทหารไทยก็เข้ายึดป้อมฝั่งตะวันตกไว้ เกิดต่อสู้กัน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ป้อมบางกอกฝั่งตะวันออก ซึ่งเพิ่งจะสร้างเสร็จได้ใช้ประโยชน์ในการสู้รบ จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 35 จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ได้บันทึกไว้ว่า
“ทหารฝรั่งเศส… ได้ระเบิดปืนใหญ่ในป้อมฝั่งตะวันตก 13 กระบอก และปืนกระบอกใดที่ระเบิดไม่ได้ ก็เจาะรูเสียทุกกระบอก แล้วขนอาวุธลูกกระสุนดินดำซึ่งอยู่ในป้อมนี้ ย้ายไปอยู่ป้อมฝั่งโน้น (ฝั่งตะวันออก) พอพวกฝรั่งเศสออกจากป้อมแล้ว พวกไทยก็เข้าไปยึดป้อมไว้ พอนายพลเดฟาร์ชเห็นว่าไทยเข้าไปอยู่ในป้อมแล้ว ก็ได้สั่งกองทหารฝรั่งเศสให้ไปตีเอาป้อมคืนมาจากไทย กองทหารไทยและฝรั่งเศสได้สู้รบกันช้านาน ทหารฝรั่งเศสสู้ไม่ได้ จึงได้ถอยเข้าไปอยู่ในป้อมฝั่งตะวันออก และได้กระทำการร้ายต่าง ๆ เป็นอันมาก ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามทรงพระราชดำริว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสคงจะไม่ทรงทราบว่านายพลกับกองทหารได้ทำการอย่างไร ทรงเห็นว่าถ้าจะให้กองทหารไทยทำการสู้รบโดยเต็มฝีมือ ก็จะเกิดบาดหมางในพระราชไมตรี จึงเป็นแต่มีพระราชโองการสั่งให้ทำป้อมเล็ก ๆ และคูรอบป้อมใหญ่ และให้ทหารรักษาไว้ให้มั่นคง ทั้งทางบกและทางเรือ และให้คอยป้องกันอย่าให้พวกฝรั่งเศสออกจากป้อมได้…
นายพลเดฟาร์ชกับกองทหารกลับสานตะกร้าขึ้นวางบนเชิงเทินรอบป้อม แล้วเอาดินใส่ตะกร้า และทำสนามเพลาะในป้อมอีกชั้นหนึ่ง สนามเพลาะนี้ทำด้วยต้นตาลต้นใหญ่ ๆ และคล้ายกับป้อมอีกป้อมหนึ่งต่างหาก และกองทหารก็ได้เอาปืนใหญ่เข้าบรรจุตามที่ยกพื้นขึ้นสำหรับวางปืนได้สองชั้นซ้อนกัน แล้วได้ระดมยิงปืนใหญ่ทำลายธง ทำลายโรงไว้ดินปืนด้วย ฝ่ายข้างไทยก็ได้จัดทหารรักษาป้อมฝั่งตะวันตก สำหรับยิงปืนและโยนลูกแตกเข้าไปในป้อมฝรั่งเศส แต่เกรงว่าจะไปถูกคนไทยด้วยกัน ทั้งเป็นการไม่สมควรทางพระราชไมตรี จึงเป็นแต่คอยยิงตอบโต้กับพวกฝรั่งเศสเท่านั้น แล้วฝรั่งเศสได้จับไทยที่เข้าใกล้ป้อมฆ่าและเอาศพเสียบไว้ให้ป้อมไทยเห็น ทำให้ข้าราชการไทยและชาวต่างประเทศโกรธแค้นมาก”
ต่อมาเมื่อนายพลเดส์ฟาร์ชและสมเด็จพระเพทราชาสามารถเจรจาสงบศึกกันได้ กองทหารฝรั่งเศสก็ยินยอมถอนตัวออกไปจากเมืองไทยโดยสิ้นเชิงครั้นแล้วสมเด็จพระเพทราชาโปรดให้รื้อป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย ด้วยทรงเห็นว่าสร้างใหญ่โตเกินกำลังทหารไทยจะรักษาไว้ได้ คงเหลือแต่ป้อมบางกอกฝั่งตะวันตก ซึ่งต่อมาเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ป้อมวิไชเยนทร์” จนกระทั่งในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจัากรุงธนบุรี (สิน) ทรงกอบกู้อิสรภาพสำเร็จ และโปรดให้ดัดแปลงบริเวณป้อมเป็นพระตำหนักที่ประทับ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานชื่อป้อมใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”
เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนผังการสร้างป้อมใหม่ที่บางกอกฝั่งตะวันออก ซึ่งมีสำเนาตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้น ฝรั่งเศสได้ออกแบบสร้างอย่างมั่นคงและใหญ่โตมาก และเป็นแผนผังที่เขียนไว้ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1677 หรือพุทธศักราช 2220 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ราชทูตฝรั่งเสศชุดนายเชอวาลิเอร์ เดอโชมองต์จะเข้ามาเมืองไทยถึง 8 ปี แผนผังนี้เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Plan du project de la fortification de Bancocq ออกแบบเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม คริสต์ศักราช 1677 ประกอบกับบันทึกและจดหมายเหตุต่าง ๆ ในพงศาวดาร ซึ่งมีเหตุผลสอดคล้องกันในหลักฐานว่า ฝรั่งเศสได้มีนโยบายและเตรียมการที่จะเข้ายึดครองเมืองไทยไว้เช่นเดียวกับที่อังกฤษได้ดำเนินการต่ออินเดียและฮอลันดาได้ดำเนินการต่อชวา หากแต่ฝรั่งเศสดำเนินการไปไม่ตลอดเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเมืองไทยเสียก่อน
ครั้นเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สิน) ทรงกอบกู้อิสรภาพขึ้นได้เป็นผลสำเร็จในปีเดียวกันนั้นเอง แต่มีพระราชดำริว่ากรุงศรีอยุธยาเสียหายหนัก ยากที่จะปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนได้ ธนบุรีซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญใกล้ทะเล ทั้งมีป้อมปราการเป็นชัยภูมิดีอยู่ กอปรกับเป็นเมืองเล็กพอสมแก่กำลังไพร่พลและราษฎรในขณะนั้น จึงโปรดให้รับพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาลงมา ณ เมืองธนบุรี โปรดให้ไพร่พลทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ทำค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้นเป็นที่มั่นไว้พลางก่อน ค่ายนั้นทำตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าไปจนวัดบางว้าน้อย วกลงไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วขุดคูน้ำรอบพระนคร มูลดินขึ้นเป็นเชิงเทินตามริมค่ายข้างในเสร็จเรียบร้อยภายในหนึ่งเดือน
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2316 ปรากฏความในสำเนาท้องตราครั้งกรุงธนบุรี และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีว่า โปรดให้บูรณะพระนครให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยให้เจ้าพระยาจักรี (คือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นายงานเกณฑ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ ผู้น้อย ฝ่ายทหาร พลเรือนทั้งปวง ทั้งในกรุงและหัวเมือง “ไปรื้ออิฐกำแพงเก่า ณ เมืองพระประแดง และกำแพงค่ายพม่า ณ โพธิ์สามต้น และสีกุก บางไทร ทั้งสามค่ายขนบรรทุกเรือมาก่อกำแพงและป้อมตามที่ถมเชิงดิน สามฟากทั้งสองด้าน เอาแม่น้ำไว้หว่างกลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก อนึ่ง ป้อมวิไชเยนทร์ท้ายพระราชวังนั้น ให้ชื่อป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วให้ขุดที่สวนเดิมเป็นที่ท้องนานอกคูเมืองทั้งสองฟาก ให้เรียกทะเลตมไว้สำหรับจะได้ทำนาใกล้พระนคร… และกระทำการฐาปนาพระนครขึ้นใหม่ครั้งนั้น 6 เดือนก็สำเร็จบริบูรณ์”
แนวกำแพงพระนครที่สร้างขึ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “กำแพงพระนครทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ได้สร้างขึ้นแต่ละฝั่ง 3 ด้าน ข้างริมน้ำไม่มีกำแพง ฝั่งตะวันตกกำแพงตั้งแต่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ยืนไปตามลำคลองบางกอกใหญ่จนถึงคลองข้างวัดโมลีโลกไปตามหลังวัดอรุณ ไปออกบางกอกน้อยที่หลังวัดอัมรินทร์เป็นคูพระนคร แล้วเลี้ยวลงมาตามแนวคลองบางกอกน้อยจนถึงแม่น้ำข้างฟากนี้ ตั้งแต่ป้อมวิไชเยนทร์คือที่สุนันทาลัยมาตามแนวคลองตลาด คลองหลอด จนถึงคลองโรงไหมวังหน้า”
บางกอกในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร เป็นที่ตั้งพระราชวังต่อจากป้อมบางกอกหรือป้อมวิไชยประสิทธิ์ อาณาเขตพระราชวังขยายออกไปจรดคลองนครบาล ทำให้วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กลายเป็นวัดในเขตพระราชวัง วัดอรุณราชวราราม ครั้งนั้นจึงไม่มีพระสงฆ์อยู่อาศัยเขตพระราชวังด้านตะวันตกจรดวัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) ซึ่งเป็นตลาดท้ายสนม ตั้งแต่เขตคลองนครบาลขึ้นไปจนถึงคลองมอญ เป็นที่ตั้งวังเจ้านายและคุก ติดคลองมอญเป็นบ้านพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด ต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเครือวัลย์วรวิหาร เหนือคลองมอญขึ้นไปเป็นนิวาสสถานของเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ซึ่งปัจจุบันเป็นกรมอู่ทหารเรือ ต่อขึ้นไปอีกคืออู่กำปั่นอยู่ติดกับวัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางว้าใหญ่) เหนือวัดระฆังโฆสิตารามขึ้นไปจนถึงปากคลองบางกอกน้อย เป็นสุดเขตกำแพงกรุงธนบุรีฝ่ายเหนือ เป็นท้องที่ซึ่งเรียกว่าตำบลบ้านปูน ตำบลสวนมังคุด ตำบลสวนลิ้นจี่ อันเป็นนิวาสสถานของพระญาติพระวงศ์ในเจ้าพระยาจักรี ส่วนฝั่งตะวันออก ภายในกำแพงพระนคร เป็นบ้านเรือนของชนกลุ่มน้อยอันได้แก่ พวกจีน และญวน ซึ่งถูกกวาดต้อนอพยพมา
นอกกำแพงพระนครทั้งสองฝั่งเป็นทะเลตมสำหรับทำนาดังกล่าว เฉพาะฝั่งธนบุรี ไกลกำแพงพระนครออกไปนั้น ยังคงเป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำสวนไม้ยืนต้น เช่น ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สวนผลไม้นี้ได้แผ่ออกไปถึงตำบลบางช้าง เขตแม่กลอง สมุทรสงคราม ดังมีคำพูดมาแต่โบราณว่า “สวนในเรียกบางกอก สวนนอกเรียกบางช้าง” นอกจากนี้ยังแบ่งเป็น “บางบน” กับ “บางล่าง” โดยเอาพระราชวังเป็นเกณฑ์ ถ้าอยู่เหนือพระราชวังก็เรียก “บางบน” อยู่ใต้ลงมาเรียก “บางล่าง”
ผลไม้ของบางกอกฝั่งธนบุรีนั้นมีรสดีขึ้นชื่อลือนามกันเป็นแห่ง ๆ ไป เช่น ทุเรียนบางบน (อาทิที่บางผักหนาม มีรสมันมากกว่าหวาน) ทุเรียนบางล่าง (เช่นที่ตำบลวัดทอง มีรสหวานมากกว่ามัน) มะปรางท่าอิฐ เงาะบางยี่ขัน ลิ้นจี่บางอ้อ ขนุนบางล่าง ลำใยบางน้ำชน สะท้อนคลองอ้อม ฝรั่งบางเสาธง ลางสาดคลองสาน ละมุดสีดาราษฎร์บูรณะ ส้มเขียวหวานบางมด เป็นต้น
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองก็ได้รับการอัญเชิญกลับจากกรุงเวียงจันทน์มาประดิษฐานเป็นศรีพระนครอีกครั้งหนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ โดยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ครั้งนำทัพไปปราบกรุงเวียนจันทน์ ได้อัญเชิญมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม และกระทำการสมโภชเป็นงานใหญ่
เหตุการณ์เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า
“ณ วัน 7 ฯ9 5 ค่ำ (วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325) เพลาเช้า 2 โมง (เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก – พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับพลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึงมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัตย์ ละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริต ฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวรรตออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทก์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมือง ในทันใดนั้น
แล้วสมณะชีพราหมณ์เสนาพฤฒามาตย์ ราษฎรทั้งปวงก็ทูลอารธนาวิงวอนอัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษก เป็นอิศวรภาพผ่านพิภพสืบไป พระเจ้าอยู่หัวจึงไปนมัสการพระแก้วมรกต แล้วเสด็จประทับแรม ณ พลับพลาหน้าหอพระนั้น”
ป้อมท้ายเมืองนั้นคือป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมบางกอกฝั่งตะวันตกนั่นเอง
1 คัมภีร์ธาตุวงศ์ ตามที่ปรากฏในบัญชีคัมภีร์ภาษามคธและภาษาสันสกฤต ฉบับของหอสมุดแห่งชาติมี 2 คัมภีร์คือ นลาฎธาตุวงศ์ ว่าด้วยการประดิษฐานนลาฏธาตุในลังกาทวีป ทาฐาธาตุวงศ์ ว่าด้วยเรื่องพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าประดิษฐานในที่ต่าง ๆ ทั้งสองคัมภีร์นั้น ไม่มีพุทธทำนายในเรื่องนี้เลย
2 น่าจะหมายความว่าตระกูลสมเด็จพระเพทราชา
3 คงจะหมายเอาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525