สำหรับมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดน อันเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ได้มีการขุดค้นพบทั้งเครื่องมือ เครื่องใช้ และโครงการดูกในที่ต่าง ๆ จนกระทั่งในยุคหินใหม่รุ่นหลัง ร่องรอยทางด้านโบราณคดีในเอเชียอาคเนย์ที่แสดงถึงอารยธรรมอินเดียไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 7 - 8 และในระยะนี้ก็ได้มีการตั้งอาณาจักรต่างๆ ขึ้นอาณาจักรทวารวดีซึ่งเป็นอาณาจักรสมัยประวัติศาสตร์ที่แน่นอนแห่งแรกในราชอาณาจักรไทยนั้น มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีของไทยเมื่อปีพุทธศักราช 1893 นั้น ปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ทรงมีพระราชอำนาจแผ่ไปกว้างขวาง มีเมืองป้อมปราการชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง 4 ทิศคือ ทิศเหนือ เมืองลพบุรี ทิศตะวันออก เมืองนครนายก ทิศใต้ เมืองพระประแดง ทิศตะวันตก เมืองสุพรรณบุรี และมีหัวเมืองชั้นในรายตามระยะทางคมนาคมและ ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ถัดจากเมืองพระประแดงขึ้นมา แม้จะอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากอ่าว อันเป็นเส้นทางเดินเรือออกสู่ทะเลสายสำคัญมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ก็มิได้มีชื่อปรากฏในเอกสารใด ด้วยคงจะเป็นเพียงหมู่บ้านสวนเล็ก ๆ กลางโอบอันอ้อมโค้งของลำน้ำเจ้าพระยา
นายประยูร อุลุชาฏะ ได้ดำเนินการสำรวจวัดต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งธนบุรี เมื่อพุทธศักราช 2513 กล่าวไว้ในหนังสือ “ศิลปในบางกอก” ว่า “หลักฐานจากโบราณวัตถุปรากฏว่า เมืองบางกอกมิใช่พึ่งจะสำคัญขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกว่า ยุคอโยธยาสุพรรณภูมินั้น บางกอกก็เคยมีความสำคัญมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ตรวจวัดเก่าแก่แถบอำเภอราษฎร์บูรณะ พบว่ามีพระพุทธรูปสมัยอู่ทองขนาดมหึมาอยู่ตามวัดในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดประเสริฐสุทธาวาส วัดแจงร้อน วัดบางปะกอก ส่วนบริเวณเมืองบางกอกแท้ๆ ที่ธนบุรีนั้น เท่าที่ได้พบศิลปเก่าแก่รุ่นสมัยอยุธยาตอนต้น มีดังต่อไปนี้คือ วัดแก้ว วัดตะพาน วัดจันตาฝ้าขาว วัดเพรงในคลองบางพรม วัดบางแวก ซึ่งอยู่ในบริเวณบางระมาด บางเชือกหนัง และแม่น้ำอ้อม ล้วนเป็นวัดมีมาก่อนขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาที่หน้าโรงพยาบาลศิริราชทั้งสิ้น
หลังจากราชอาณาจักรไทยได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี มีความเจริญมั่นคงทั้งในด้านการปกครอง การทหาร และการเศรษฐกิจ กล่าวคือนอกจากจะได้มีการตราพระราชกำหนดกฎหมายขึ้นเป็นหลักในการปกครอง และวางระเบียบการบริหารประเทศทั้งในกรุงและหัวเมืองขึ้นโดยเรียบร้อยแล้ว ยังมีอำนาจเหนือประเทศราชน้อยใหญ่ในแถบเอเชียอาคเนย์ ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา และมลายู ทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินเรือติดต่อค้าขายระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียในขณะนั้นด้วย และด้วยเหตุประการหลังนี้ พื้นที่แถบบริเวณ “บางกอก” อันเป็นที่ตั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จึงเริ่มเป็นที่สนพระทัยของพระมหากษัตริย์หลายรัชกาล ด้วยร่องแม่น้ำอันคดเคี้ยวระหว่างกรุงศรีอยุธยากับทะเลนั้น หากได้ขุดคลองลัดขึ้นก็จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางเรือ และลำน้ำเจ้าพระยาเดิมซึ่งไหลจากสามเสนเข้าคลองบางกอกน้อย ตลิ่งชัน บางระมาด เลี้ยวออกคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นทางอ้อมโค้ง หากไปด้วยเรือแจวจะกินเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น เมื่อมีคลองลัดขุดพาสายน้ำไปทางอื่นก็แคบลงและตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นคลองไป คือที่เรียกว่า คลองบางกอกน้อย คลองตลิ่งชัน คลองบางระมาด และคลองบางกอกใหญ่ในปัจจบัน สำหรับตำบลบางกอก ซึ่งเคยอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก็กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำไหลผ่านกลาง แต่ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกก็ยังคงใช้ชื่อรวมกันว่า “บางกอก” เช่นเดิม ครั้นขุดคลองลัดแล้ว บางกอกจึงเริ่มมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ขึ้น และต่อมาตั้งเป็นเมืองด่านเรียกว่า เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร รัชกาลต่อมา คือรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พุทธศักราช 2091 - 2111)งศรีอยุธยา และผ่านอีกในตอนขากลับ
ในแผนที่ทะเลและแผนที่ครั้งโบราณที่ชาวต่างประเทศได้ทำไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏตำแหน่งที่ตั้งของเมืองธนบุรีในชื่อของบางกอก โดยสะกดว่า Bangkok , Bancoc , Bancok , Banckok , Bankoc , Banckock , Bangok , Bancocq , Bancock ก็มี และในบางแผ่นเขียนคำว่า Siam อันหมายถึงประเทศสยามไว้ตรงที่ตั้งของบางกอก ในขณะที่มีคำว่า Judia , Odia, Juthia , Ajothia ,Odiaa อยู่เหนือขึ้นไปในตำแหน่งที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้นบางกอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรไทยด้วย (แผนที่ประเทศไทยครั้งโบราณนี้ พิพิธภัณฑ์แผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ได้รวบรวมและทำสำเนามาเก็บรักษาไว้ได้เป็นจำนวนมาก) ส่วนคำว่า Bangkok ที่ใช้สะกดเป็นชื่อเมืองบางกอก หรือกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน นายขจร สุขพานิช ได้ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง “บางเกาะ-เกาะรัตนโกสินทร์” ว่า ปกติเป็นคำที่ฝ่ายสังฆราชผู้เป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยาใช้เมื่อเขียนถึงบางกอก ทุกครั้งที่ท่านเขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส และได้ใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่ง ก็ทรงสะกดคำนี้ว่า Bangkok ตามที่พวกสังฆราชฝรั่งเศสใช้ จึงได้ใช้เป็นมาตรฐานต่อมาจนปัจจุบัน ในเอกสารชุด The Records of Relation Between Siam and Foreign Countries in 17 th Century Vol.1 (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ 17) ซึ่งเป็นบันทึกของชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาที่เก่าสุดเท่าที่สอบค้นได้ในปัจจุบัน พ่อค้าชาวฮอลันดาได้เขียนบันทึกบรรยายเกี่ยวกับอาณาจักรสยามไว้เมื่อปีพุทธศักราช 2160 - 2161 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ความตอนที่กล่าวถึงบางกอกนั้นมีว่า
“กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ประมาณ 15 องศา ทางเหนือ ต้องเข้าแม่น้ำไปภายในแผ่นดินประมาณ 20 ไมล์ฮอลันดา แม่น้ำนี้จัดอยู่ในประเภทแม่น้ำที่ดีที่สุดในย่านอินดีส ซึ่งสามารถให้เรือระวางหนักตั้งแต่ 150 ถึง 200 ลาสท์ กินน้ำลึกตั้งแต่ 12 ถึง 13 ฟุตขึ้นไปเข้าจอดได้โดยสะดวก จากปากน้ำเข้าไป 5 ไมล์เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด บรรทุกสินค้ามาจากไหน มีผู้ใดมากับเรือบ้าง และมีสินค้าอะไรบ้างที่บรรทุกมา ก่อนที่เรือเหล่านั้นจะล่วงล้ำหรือเดินทางเข้าไปกว่านั้น จากบางกอกขึ้นมาประมาณ 1 ไมล์ มีด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า บ้านตะนาว ซึ่งเรือทุกลำที่จะขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาจะต้องหยุดตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหิน และมีแม่น้ำโอบไปโดยรอบ มีประชาชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกรุงสยามตามแบบฉบับของเมืองในแถบตะวันออก ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรือจะกลับออกไปและเมื่อผ่านด่านภาษีที่บ้านตะนาวอีก ก็จะต้องหยุดทอดสมอเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะออกเดินทางไปไหน มีสินค้า สัมภาระและบรรทุกใครออกไปบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัตินั้นผู้ที่จะออกไปจะต้องได้รับหนังสือพระราชทานสำคัญเสียก่อน เรียกว่า ตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (ใบผ่าน) ซึ่งจะต้องนำไปแสดงที่ด่านภาษีที่บางกอก ซึ่ง ณ ที่นี้เรือจะต้องหยุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจ่ายอากรแผ่นดินสำหรับเรือและสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายเรือหรือเจ้านายอื่น ๆ ก็ตาม จะถูกยึดเรือทันที”
บางกอกเป็นเมืองด่านที่สำคัญมาแต่แรกตั้งจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศและการทำมาหากินของชาวบางกอกในครั้งนั้น เอกสารประวัติศาสตร์ฝ่ายไทย มิได้กล่าวถึงมากนักด้วยผู้บันทึกคงจะเห็นเป็นของธรรมดา แต่จากบันทึกและจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศได้ให้หลักฐานอันน่าสนใจเกี่ยวกับบางกอกไว้เป็นอันมาก อาทิ เช่น
ลักษณะภูมิประเทศ
“เมืองบางกอก เป็นหัวเมืองหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำห่างจากทะเล 24 ไมล์…เดินทางจากอยุธยามาบางกอกทางเรือ ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง (ออกจากอยุธยาเวลา 5 โมงเย็น) ถึงบางกอกรุ่งขึ้นเวลาเช้า…เวลาเช้าเดินทางออกจากบางกอก ถึงปากอ่าวเวลา 4 โมงเย็น"
แม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูน้ำหลากนั้นไหลเชี่ยวจัด ดังปรากฏในจดหมายเหตุของนายเซเบเรต์ (Ceberet) ซึ่งเดินทางเข้ามาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างพุทธศักราช 2230 - 2231 ว่า “ได้ไปปรึกษากับมองซิเออร์เดอโวดรีคร์ ถึงเรื่องที่จะพาเรือรบเข้าไปในลำแม่น้ำจนถึงบางกอก มองซิเออร์เดอโวดรีคร์ จึงได้ตอบว่า การที่จะพาเรือเข้าไปในลำแม่น้ำในฤดูนี้ทำไม่ได้ เพราะน้ำในแม่น้ำกำลังท่วมตลิ่งและไหลเชี่ยวแรงมาก ถึงน้ำทะเลจะขึ้นก็ยังไม่พอทานกำลังกระแสเชี่ยวในลำแม่น้ำได้ และถ้าเรือเล็ก ๆ จะขึ้นไปตามลำแม่น้ำแล้ว ก็จะต้องทิ้งสมอลง และกว้านสมอนั้นพาเรือขึ้นไปทีละน้อย ๆ ซึ่งจะเป็นการกินเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน เพราะระยะตั้งแต่ด่านภาษีซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำถึงบางกอกนั้น เป็นระยะไกลถึง 10 ไมล์”
แต่อย่างไรก็ตาม นายเดอลาลูแบร์ (Simon de la Loub?re) ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาพร้อมนายเซเบเรต์ (ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ Du Royaume de Siam (จดหมายเหตุลาลูแบร์) ว่า “ในเดือนตุลาคม กระแสลมพัดผ่านมาทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ฝนก็หยุดตก ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม สายลดพัดมาจากทิศเหนือ กวาดน่านน้ำ (ให้หมดเมฆ) และดูจะกระหน่ำลงทะเลอย่างแรงถึงขนาดกวาดน้ำที่ท่วมแผ่นดินอยู่ให้ลงทะเลไปได้ภายในไม่กี่วัน ตอนนี้กระแสน้ำขึ้นลงไหลอ่อนมาก ทำให้น้ำในแม่น้ำมีรสจืดไปได้ไกล (จากหน้าเมืองบางกอก) ถึง 2 ลี้ หรือ 3 ลี้”
พื้นที่บางกอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม พื้นดินอุดมทำสวนทำนาได้ดี โดยเฉพาะสวนผลไม้
บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวนใหม่ เล่มที่ 252 ซึ่งเรียบเรียบในสมัยราชวงศ์หมิง กล่าวว่า
“หลอหูอยู่ใต้ประเทศเซียนลงมา อาณาเขตติดริมทะเล คือทางทิศใต้เป็นอ่าวใหญ่ มีแม่น้ำใหญ่
สายหนึ่งไหลผ่านจากเซียนลงมาหลอหู แล้วไหลออกทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ประเทศนี้ ในฤดูร้อนมีน้ำไหลท้นจากอ่าวขุ่นเป็นสีโคลน น้ำจะไหลเข้าคลองเล็กคลองน้อยทั่วพื้นที่ จึงทำนาได้ผลดีมาก ข้าวราคาถูก”
ตามจดหมายเหตุจีนนี้ เซียนคืออาณาจักรสุโขทัย และหลอหูคืออาณาจักรศรีอยุธยา
นายเดอลาลูแบร์ ได้บันทึกไว้อีกตอนหนึ่งในหนังสือ Du Royaume de Siam (จดหมายเหตุลาลูแบร์) ว่า
“สวนผลไม้ที่บางกอกนั้นมีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ โดยทวนขึ้นไปสู่เมืองสยาม
(หมายถึงกรุงศรีอยุธยา) ถึง 4 ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหารซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา หมายถึงผลไม้นานาชนิดเป็นอันมาก”
นายประยูร อุลุชาฏะ ได้ดำเนินการสำรวจวัดต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งธนบุรี เมื่อพุทธศักราช 2513 กล่าวไว้ในหนังสือ “ศิลปในบางกอก” ว่า “หลักฐานจากโบราณวัตถุปรากฏว่า เมืองบางกอกมิใช่พึ่งจะสำคัญขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกว่า ยุคอโยธยาสุพรรณภูมินั้น บางกอกก็เคยมีความสำคัญมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ตรวจวัดเก่าแก่แถบอำเภอราษฎร์บูรณะ พบว่ามีพระพุทธรูปสมัยอู่ทองขนาดมหึมาอยู่ตามวัดในบริเวณนั้น ส่วนใหญ่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดประเสริฐสุทธาวาส วัดแจงร้อน วัดบางปะกอก ส่วนบริเวณเมืองบางกอกแท้ๆ ที่ธนบุรีนั้น เท่าที่ได้พบศิลปเก่าแก่รุ่นสมัยอยุธยาตอนต้น มีดังต่อไปนี้คือ วัดแก้ว วัดตะพาน วัดจันตาฝ้าขาว วัดเพรงในคลองบางพรม วัดบางแวก ซึ่งอยู่ในบริเวณบางระมาด บางเชือกหนัง และแม่น้ำอ้อม ล้วนเป็นวัดมีมาก่อนขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาที่หน้าโรงพยาบาลศิริราชทั้งสิ้น
บันทึกของนายยอช ไวต์ (George White) พ่อค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่เข้ามาทำการค้า ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช 2221 กล่าวว่า
“หมากนั้นมีที่สวนสำหรับเป็นที่เพาะปลูกในระหว่างเมืองนนทบุรีและปากน้ำใกล้เมืองบางกอก ในสวนเหล่านี้ เก็บได้ปีหนึ่งประมาณ 25,000 หาบ”
บาทหลวงตาชาร์ด บันทึกไว้ในจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ซึ่งเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพุทธศักราช 2230 - 2231 ว่า
“และโดยที่บางกอกเป็นเมืองสวนของประเทศสยาม ซึ่งมีผลไม้รสเยี่ยมทั่วราชอาณาจักรมารวมกันอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เขาจึงนำมาให้เป็นของกำนัลแก่เราเข่งหนึ่ง”
จากการสำรวจโบราณวัตถุสถานของกรุงรัตนโกสินทร์เฉพาะฝั่งตะวันตก ปรากฏว่าในแถบคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองบางระมาด บางพรม บางน้อย บางเชือกหนัง และบางขุนเทียน มีวัดโบราณขนาดใหญ่โตสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นจำนวนมาก บางแห่งยังคงปรากฏสิ่งก่อสร้างอันเป็นแบบอย่างทางศิลปกรรมสำคัญ อาทิ วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐาน) วัดทอง (วัดกาญจนสิงหาสน์) วัดแก้ว วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) วัดกำแพง แม้ฝั่งตะวันออกก็มีวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพน) วัดสลัก (วัดมหาธาตุ) วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ) วัดโคก (วัดพลับพลาไชย) เป็นต้น บางแห่งก็อยู่เรียงรายติด ๆ กัน บ่งถึงว่าอาณาบริเวณแถบนี้ย่อมมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นชุมนุมใหญ่ เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งเมืองหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม สถานที่ตั้งของวัด หรือความเจริญของบ้านเมืองจะกระจายอยู่แถบริมแม่น้ำหรือริมคลอง อันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ส่วนบริเวณด้านทิศใต้ นับแต่หลังวัดบางยี่เรือ วงเวียนใหญ่โดยไปทางดาวคะนอง จนถึงหลังวัดบางสะแกนั้น มีเพียงวัดกระจับพินิจอยู่เพียงวัดเดียว และไม่ปรากฏร่องรอยความเจริญทางศิลปกรรมอื่นอีก บริเวณแถบนี้เดิมจึงน่าจะเป็นป่า และน่าจะแผ่อาณาเขตไปทางทิศใต้ของกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งธนบุรีนี้ทั้งหมด
สำหรับที่ทำการของเจ้าเมืองบางกอกนั้น ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ และจากบันทึกของพ่อค้าชาวฮอลันดา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่กล่าวถึงข้างต้น ได้ระบุไว้ว่าบางกอกเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของเมืองซึ่งมีบันทึกหลักฐานไว้ ทั้งเอกสารประวัติศาสตร์ของไทย และของชาวต่างประเทศ คือตึกที่พักรับรองสำหรับบุคคลสำคัญกับป้อมสองฟากแม่น้ำ
นายอาดัม เดนตัน (Adam Denton) พ่อค้าชาวอังกฤษ ได้เขียนจดหมายถึงบริษัทอินเดียตะวันออกที่ปัตตานี เล่าถึงการเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2165 ว่า “วันที่ 17 ข้าพเจ้าพร้อมด้วยล่ามชาวพื้นเมืองได้ออกเดินทางล่องเรือไปตามลำน้ำ ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 20 ไมล์ จึงได้มาถึงเมืองที่มีชื่อว่า บางกอก เจ้าเมืองบางกอกได้ออกมาต้อนรับคณะของเราเป็นอย่างดี และได้กรุณาจัดหาเสบียงสัมภาระของกินของใช้ที่จำเป็นมาให้ด้วย… ในการนี้ เจ้าเมืองได้จัดตึกสามชั้นให้เราอยู่ เป็นตึกค่อนข้างใหญ่ ยาว 7 ฟาธอม และกว้าง 5 ฟาธอม เป็นที่ที่น่าอยู่ และสะดวกสบายมาก” หลังจากนั้นเป็นเวลาร่วม 100 ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาก็ยังระบุว่า มีตึกที่พักรับรองก่ออิฐถือปูนอยู่ ซึ่งอาจเป็นตึกหลังเดียวกันนี้หรือสร้างขึ้นใหม่แทนอาคารหลังเดิมซึ่งชำรุดหักพังไปแล้วก็ได้
บาทหลวงคูร์โตแลง ได้เขียนแผนที่สองฝั่งแม่น้ำตรงบางกอกในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ โดยมีป้อมบางกอกตั้งอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และให้ชื่อสองฝั่งแม่น้ำตอนนี้ว่า Bankoc ข้างใต้ป้อมฝั่งตะวันออก มีโบสถ์ฝรั่งอยู่โบสถ์หนึ่งชื่อโบสถ์ Concepcion (อยู่แถบตลาดน้อย) และมีโบสถ์ทางพุทธศาสนาอยู่เหนือป้อมโบสถ์หนึ่ง (อยู่แถบวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ข้างใต้ป้อมโบสถ์หนึ่ง (อยู่แถบวัดราชบุรณะ) ส่วนโบสถ์พุทธศาสนาทางฝั่งตะวันตกมีอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับป้อมบางกอกนั้นเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอดนับแต่แรกสร้างจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
โดยที่ภูมิสถานของเมืองบางกอกนั้นเป็นที่หัวโค้งเลี้ยวของแม่น้ำ ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้มีการเล็งเห็นความสำคัญของบางกอกขึ้นอีกประการหนึ่งว่า นอกจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำระหว่างปากน้ำกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญทางการค้าแล้ว ชัยภูมิของเมืองยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อีกด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525
กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 36-38