ครั้นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี และทรงรับอัญเชิญของเสนามาตย์ราษฎรทั้งหลาย เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน 5 ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 แล้ว กอปรกับเป็นเวลาที่การศึกสงครามทั้งปวง ซึ่งติดพันมาตลอดรัชสมัยแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้สงบลง จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานขึ้นเป็นที่ประทับก่อนอื่น ดังได้กล่าวแล้วว่า หลังจากการขยายพระนครเมื่อปีพุทธศักราช 2316 กรุงธนบุรีมีกำแพงพระนครอยู่สองฟากแม่น้ำ จึงมีลักษณะเป็นเมืองอกแตก4 เป็นชัยภูมิที่ไม่มั่นคงในการต่อสู้ข้าศึก ฝั่งตะวันตกนั้นแม้จะเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นที่ท้องคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชวังเดิมครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตั้งอยู่ในที่อุปจารระหว่างวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน) กับวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามในปัจจุบัน) ยากแก่การขยายพระนครออกไปทางด้านนั้น ส่วนฝั่งตะวันออก แม้จะเป็นที่ลุ่มแต่ก็มีลักษณะเป็นแหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง แม้นข้าศึกยกมาประชิดติดชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า นอกจากนั้นที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่นอกกำแพงพระนครฝั่งตะวันตกที่เรียกว่า ทะเลตม ซึ่งใช้เป็นที่ทำนาปลูกข้าวเลี้ยงพลเมืองนั้น ยังทำให้กองทัพข้าศึกที่จะมาตีพระนครเคลื่อนที่เข้ามาได้ยากลำบาก เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกในบริเวณกำแพงพระนครเดิมครั้งกรุงธนบุรี อันเป็นภูมิสถานที่พระองค์ครั้งทรงบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีรับพระบรมราชโองการสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นนายงานควบคุมไพร่พลสร้างขึ้นไว้แต่ในพุทธศักราช 2316 นั้น
ในการย้ายพระนครมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานี้ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด ต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์) กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมช่างและไพร่วัดที่กะสร้างพระนครและพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานใหม่ให้มีลักษณะคล้ายกรุงศรีอยุธยา
การพระราชพิธียกเสาหลักเมืองมีขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที
จากนั้นจึงเริ่มการสร้างพระราชวังหลวง เมื่อ ณ วันจันทร์เดือน 6 แรม 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2325 ในชั้นแรกนี้สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งสิ้น รายล้อมด้วยปราการระเนียด เพื่อใช้เป็นที่ประทับชั่วคราว เมื่อสร้างพระราชวังหลวงแล้วเสร็จทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขปขึ้น เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและพระองค์เอง ณ วันจันทร์ เดือน 8 บูรพาษาฒ ขึ้น 1 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2325 โดยมีการสวดพระปริตร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระราชมณเฑียรสถานสร้างใหม่ เป็นเวลา 3 วัน ครั้นวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2325 เวลา 6 นาฬิกา 24 นาที อันเป็นเวลาอุดมมงคลฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ข้ามฟากจากพระราชวังกรุงธนบุรี มาขั้นที่ท่าฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ เสด็จประทับพระราชยาน เสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชมณเฑียรสถาน ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระปฐมกษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชดำเนินเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการก่อสร้างพระนครต่อให้บริบูรณ์
การสร้างพระนครใหม่ได้เริ่มในปีพุทธศักราช 2326 เนื่องจากอยู่ในระยะเวลาที่ระแวงว่าจะมีข้าศึกพม่ามาโจมตีพระนครอีก การสร้างพระนครจึงทำเป็น 2 ระยะคือ ระยะเบื้องต้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษากรุงธนบุรีเป็นที่มั่น เป็นแต่ย้ายพระราชวังและสถานที่สำคัญต่างๆ ของทางราชการมาตั้งที่พระนครฝั่งตะวันออก ต่อมาในระยะที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงกรุงธนบุรีทางฝั่งตะวันตกเสีย คงรักษาแต่ที่ริมแม่น้ำเป็นเขื่อนหน้าพระนครที่สร้างใหม่ และให้รื้อพระราชวังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือแต่กำแพงสกัดชั้นใน เรียกว่า พระราชวังเดิม แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับของพระราชวงศ์ผู้ใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี (จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ต่อมาเมื่อโรงเรียนนายเรือย้ายไปอยู่ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารเรือสืบมาจนปัจจุบัน)
สำหรับพระนครฝั่งตะวันออก ซึ่งมีภูมิสถานเป็นแหลมโค้ง มีลำน้ำโอบอยู่สามด้าน ด้านในซึ่งติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ ได้ขุดเป็นคูเมืองไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี จึงมีสัณฐานคล้ายเกาะนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรี เพื่อขยายกำแพงและคูพระนครใหม่ให้กว้างออกไป คูพระนครใหม่นี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขนานไปกับแนวคูเมืองเดิม เริ่มจากริมแม่น้ำตอนบางลำภู วกไปออกแม่น้ำข้างใต้ บริเวณเหนือวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาธิวาสในปัจจุบัน) ยาว 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก พระราชทานนามว่า “คลองรอบกรุง” (คือคลองบางลำภูถึงคลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน) ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ไปจนปากคลองข้างเหนือ ยาว 91 เส้น 16 วา รวมทางน้ำรอบพระนคร 177 เส้น 9 วา (ประมาณ 7.2 กิโลเมตร) จากนั้นให้ขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม 2 คลองออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ โดยสายแรกขุดจากวัดบุรณศิริมาตยารามไปออกวัดมหรรณพารามและวัดเทพธิดาราม และอีกสายหนึ่งขุดจากวัดราชบพิธไปออกที่สะพานถ่าน
นอกจากขุดคลองรอบกรุงและคลองหลอด 2 สายแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก (วัดสระเกศในปัจจุบัน) โดยขุดแยกไปจากคลองรอบกรุงตรงสะพานมหาดไทยอุทิศ (ในปัจจุบัน) ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ปากคลองรอบกรุง พระราชทานนามว่า คลองมหานาค และ 4 เมืองที่ตั้งป้อมกำแพงไว้สองฟาก เอาลำน้ำไว้กลางเมือง ถ้าลำน้ำนั้นแคบก็เป็นประโยชน์ในการที่จะใช้ลำเลียงเข้าได้ถึงในเมือง เวลามีศึกสงครามก็สามารถทำเครื่องกีดกันข้าศึกทางน้ำ และทำสะพานให้ทหารข้ามถ่ายเทช่วยกันรักษาหน้าที่ได้ง่าย แต่ถ้าลำน้ำกว้างออกจนกลายเป็นแม่น้ำ ประโยชน์ที่จะได้ในการป้องกันเมืองก็จะหมดไปกลายเป็นเมืองอกแตก ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นดินอ่อนและเป็นที่ลุ่มต่ำ การขุดคูคลองเพื่อชักน้ำเข้ามาใช้จึงเป็นทางระบายน้ำในคราวฝนตกหนักหรือฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างดี กอปรกับในขณะนั้นยังไม่มียวดยานพาหนะทางถนน คูคลองจึงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญมาตลอดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้นเมื่อขุดคลองเรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดรากก่อกำแพงรอบพระนครตามแนวคลองรอบกรุง และด้านแม่น้ำเจ้าพระยา
กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสร้าง มีกำแพงรอบพระนครและคูพระนครยาว 177 เส้น 9 วา (7.2 กิโลเมตร) มีเนื้อที่ภายในกำแพงพระนคร 2,589 ไร่ กำแพงพระนครสูงประมาณ 7 ศอก (3.60 เมตร) หนาประมาณ 5 ศอก (2.70 เมตร) มีประตู 63 ประตู เป็นประตูใหญ่ 16 ประตู ขนาดกว้างประมาณ 8 ศอก (4.20 เมตร) สูงประมาณ 9 ศอก (4.50 เมตร) ประตูเล็กหรือช่องกุด 47 ประตู ขนาดกว้างประมาณ 5 ศอก (2.70 เมตร) สูงประมาณ 4 ศอก (2.40 เมตร) และได้สร้างป้อมปืนตามแนวกำแพงพระนครทั้งด้านคลองรอบกรุงและด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างกันประมาณ 10 เส้นบ้าง ไม่ถึง 10 เส้นบ้าง จำนวน 14 ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุ ป้อมยุคนธร ป้อมมหาปราบ ป้อมมหากาฬ ป้อมหมูทลวง ป้อมเสือทยาน ป้อมมหาไชย ป้อมจักรเพชร ป้อมผีเสื้อ ป้อมมหาฤกษ์ ป้อมมหายักษ์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินธร ทุกป้อมมีใบบังเป็นระยะ ๆ เว้นแต่ป้อมพระสุเมรุ ใบบังทำเป็นรูปเสมา ในขณะเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำเลที่ในพระนครฝั่งตะวันออกขณะนั้น ตั้งแต่ปากคลองคูเมืองเดิม (คลองโรงไหม) ข้างเหนือลงมาจนปากคลองข้างใต้ มาจนริมแม่น้ำมีที่ผืนใหญ่ที่จะสร้างพระราชวังได้ 2 แปลง แปลงข้างใต้อยู่ระหว่างวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในปัจจุบัน) กับวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปัจจุบัน) แปลงข้างเหนืออยู่แต่วัดสลักขึ้นไปจรดคลองคูเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงในที่แปลงใต้ และสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลในที่แปลงเหนือ ที่สร้างพระราชวังหลวงนี้ เดิมเป็นที่ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนตั้งบ้านเรือนอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่ระหว่างคลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาสในปัจจุบัน) ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดประทุมคงคาในปัจจุบัน) แต่เนื่องจากความต้องการที่ริมแม่น้ำสำหรับเป็นที่จอดแพและเรือ พวกจีนบางกลุ่มจึงข้ามคลองวัดสามเพ็งไปตั้งอยู่ทางใต้ของคลองในเวลาต่อมา ทำให้ท้องที่ด้านใต้ของพระนครซึ่งเปลี่ยวมาช้านาน มีผู้คนหนาแน่นผิดกว่าแต่ก่อนมาก เป็นย่านที่เจริญและค้าขายดีที่สุด ซึ่งได้แก่ย่านตลาดสามเพ็ง (เหนือคลองวัดสามเพ็ง) กับย่านตลาดน้อย (ใต้คลองวัดสามเพ็ง) สำหรับที่ด้านริมแม่น้ำวัดโพธิ์ไปจรดป้อมบางกอกเดิม ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกญวน ซึ่งอพยพเข้ามาพร้อมกับองค์เชียงซุนครั้งกรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่ตำบลบ้านหม้อและพาหุรัด แล้วใช้ที่แปลงนั้นสร้างวังท่าเตียน พระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
เมื่อสร้างพระบรมมหาราชวังแล้วเสร็จ ลักษณะกำแพงพระบรมมหาราชวังสร้างก่ออิฐ ถือปูนมีใบบังบนสันกำแพงเป็นรูปเสมา สำหรับกำบังตัวเวลายิงต่อสู้ศัตรู ด้านเหนือมีความยาว 410 เมตร ด้านใต้ยาว 400 เมตร ด้านตะวันออกยาว 460 เมตร และด้านตะวันตกยาว 500 เมตร มีป้อมรวม 17 ป้อม เนื้อที่พระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้างมีประมาณ 132 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ พระบรมมหาราชวังชั้นนอก พระบรมมหาราชวังชั้นกลาง และพระบรมมหาราชวังชั้นใน
พระบรมมหาราชวังชั้นนอก เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น ศาลาลูกขุนในฝ่ายทหาร (กรมพระกลาโหม) ศาลาลูกขุนในฝ่ายพลเรือน (กรมมหาดไทย) กรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมล้อมพระราชวัง กรมสนมพลเรือน เป็นต้น
พระบรมมหาราชวังชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียร สถานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในครั้งนั้น คือ
พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นปราสาทที่สร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญประสาทที่กรุงศรีอยุธยามาสร้างขึ้น สร้างเสร็จแล้วได้ทำพิธียกยอดพระมหาปราสาทเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2327 และได้ใช้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาประสาทนี้ เป็นที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปีพุทธศักราช 2328 ต่อมาในปีพุทธศักราช 2332 ได้เกิดอสุนีบาตตกที่หน้ามุขเด็จ พระที่นั่งเกิดเพลิงไหม้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อออกแล้วสร้างพระมหาประสาทขึ้นใหม่ให้สูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุข แต่ละมุขกว้างยาวเสมอกัน ทางมุขหน้ายังมีมุขเด็จยื่นออกมาข้างหน้าเป็นที่เสด็จออกให้เฝ้า และสร้างพระที่นั่งขึ้นอีกองค์หนึ่ง
พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างติดกับมุขด้านใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงใช้เป็นที่เข้าพระบรรทมขณะเสด็จประทับที่พระมหาปราสาท
พระมหามณเฑียร เป็นพระที่นั่งหมู่ ประกอบด้วย
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นที่บรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากที่ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางท้องพระโรงหน้า เป็นที่ประทับทรงพระสำราญในเขตฝ่ายใน ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐ
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ต่อเนื่องกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางด้านเหนือ ทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางฝ่ายหน้า เสด็จออกมหาสมาคมและเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ทั้งสามองค์นี้เดิมเรียกรวมว่า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มาแยกเรียกในรัชกาลที่ 3
พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน
พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน ทั้งสององค์นี้ เดิมเรียกว่า พระปรัศว์ซ้ายขวา
หอพระสุราลัยพิมาน อยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ เรียกกันเป็นสามัญว่า หอพระเจ้า
หอพระธาตุมณเฑียร ติดต่อทางด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีรูปร่าง ขนาด เช่นเดียวกับหอพระสุราลัยพิมาน ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี
พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ อยู่ตรงมุมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นพลับพลาโถงเสาไม้ เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องเวลาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธาร หรือทรงพระราชยานเพื่อเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตรา
พระที่นั่งเย็น อยู่ตรงมุมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งโถงลักษณะเดียวกับพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
พระที่นั่งพลับพลาสูง สร้างบนกำแพงด้านตะวันออก เป็นพลับพลาโถงจตุรมุข หลังคาไม่มียอด สำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในการพระราชพิธีสระสนานใหญ่ (คือการเดินช้าง เดินม้า ราชพาหนะออกมารับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ หรือจะเรียกว่าเป็นการสวนสนามจตุรงคเสนา ซึ่งมีริ้วกระบวนประกอบด้วย พลเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ เดินกระบวนผ่านหน้าที่ประทับ รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และทอดพระเนตรการฝึกช้าง) ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ยกยอดเป็นปราสาท เรียกว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
พระตำหนักทองในสวนขวา สำหรับประทับสำราญพระราชอิริยาบถ อยู่ด้านตะวันออกทางขวาของพระราชมณเฑียร (ปัจจุบันนี้รื้อแล้ว)
พระบรมมหาราชวังชั้นใน เป็นที่ตั้งของพระตำหนักที่ประทับของพระราชวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในและเจ้านายผู้ชายที่ยังทรงพระเยาว์ ก่อนทรงผนวชเณรเมื่อพระชันษา 13)
เมื่อสร้างกำแพง ป้อมปืน ประตู รอบพระบรมมหาราชวัง และพระมหาปราสาทราชมณเฑียรเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังพระอารามหนึ่ง แล้วเสร็จในปีมะโรง ฉศก จุลศักราช 1146 พุทธศักราช 2327 ครั้นถึงวันจันทร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2327 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากโรงในพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี มาประดิษฐานยังพระอารามที่สร้างใหม่ แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาในวันเดียวกันนั้น พระราชทานนามพระอารามนี้ว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสร้างในปีพุทธศักราช 2325 เขตของวัดมีพระระเบียบรอบบริเวณ และมีสิ่งก่อสร้างดังนี้คือ
พระอุโบสถ สร้างภายในวงพระระเบียงทางด้านใต้ ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระประธาน
หอพระมณเฑียรธรรม สร้างกลางสระ เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก และเป็นที่แปลพระราชสาสน์ด้วย
ศาลารายรอบพระอุโบสถ 12 หลัง
พระเจดีย์ทอง 2 องค์ (ภายหลังชะลอไปไว้หน้าปราสาทพระเทพบิดร) สร้างอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 1ย
หอระฆัง สำหรับแขวนระฆังที่นำมาจากวัดระฆังโฆสิตาราม
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2331 เมื่อชำระพระไตรปิฎกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่พระไตรปิฎกจากวัดมหาธาตุมาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม แล้วมีมหรสพฉลอง ดอกไม้เพลิงได้ตกลงไปบนหลังคาหอพระมณเฑียรธรรม ไฟไหม้หมดทั้งหลัง จึงต้องสร้างพระมณฑปเป็นที่สำหรับประดิษฐานพระไตรปิฎกใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตวัดทางด้านตะวันออก และต่อพระระเบียบออกไปทางด้านเหนือ แล้วสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติมคือ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถมสระซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของหอพระมณเฑียรธรรมเก่าที่ถูกไฟไหม้ แล้วก่อฐานไพทีสร้างพระมณฑปไว้พระไตรปิฎก
ในเขตวัดด้านเหนือที่ขยายออกไปนั้น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับอาสาสร้างหอพระมณเฑียรธรรมถวายใหม่หลังหนึ่ง เป็นที่ไว้พระไตรปิฎกที่เหลือจากพระมณฑป และใช้เป็นที่แปลพระราชสาส์นอย่างแต่ก่อน
ทรงสร้างหอพระเทพบิดร ไว้พระพุทธรูปพระเทพบิดร พระพุทธรูปองค์นี้เดิมเป็นเทวรูปประดิษฐานอยู่ในพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกกันว่า “รูปพระเจ้าอู่ทอง” ได้โปรดให้เชิญลงมา แล้วยุบหล่อใหม่เป็นพระพุทธรูปเงินทรงเครื่อง เรียกกันว่า พระเทพบิดร
ทรงสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระนาก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์สูงใหญ่ เรียกกันว่า หอพระนาก แต่ต่อมาในรัชกาลที่ 3 เป็นที่เก็บรักษาพระอัฐิเจ้านาย ย้ายพระนากไปไว้ในพระวิหารยอด
ส่วนพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ดินแปลงข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้โปรดให้สร้างกำแพงวังก่ออิฐมีใบบังเป็นรูปเสมา แต่ไม่มีเชิงเทิน พร้อมด้วยป้อมปืนรายรอบกำแพง จำนวน 10 ป้อม มีคูล้อมพระราชวังด้านใต้และด้านตะวันออก ส่วนด้านเหนือใช้คลองคูเมืองเดิมเป็นคู ด้านตะวันตก เป็นลำน้ำเจ้าพระยา เอากำแพงพระนครเป็นกำแพงวังชั้นนอก พระราชมณเฑียรที่ประทับ ก็ทรงสร้างด้วยฝีมือประณีตงดงาม คือ
พระพิมานดุสิดา สร้างไว้กลางสระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ฝีมือสร้างและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิมานนี้งดงามมาก
พระที่นั่งศิวโมกขพิมานป็นพระที่นั่งโถงตามแบบอย่างพระที่นั่งทรงปืนในพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย ์
นอกจากนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยังทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดสลัก ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ติดพระราชวังด้านใต้ แล้วพระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดพระศรีสรรเพ็ชญ แล้วเปลี่ยนเป็น วัดมหาธาตุ (ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ด้วยพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช 2437 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดเป็น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์)
สำหรับบริเวณหน้าวัดมหาธาตุ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคลมีสภาพเป็นท้องทุ่งรกชัฎ ถึงหน้าน้ำเซาะเข้าขังเจิ่งจึงเป็นที่ชาวบ้านใกล้เคียงพากันไปตกกุ้งปลากินกัน คราวฤดูแล้งใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ จึงเรียกกันว่า “ทุ่งพระเมรุ” (ในรัชกาลต่อ ๆ มาใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี และทำนา ครั้นรัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ใช้ชื่อเดิมว่า ท้องสนามหลวง มิให้ใช้ว่าทุ่งพระเมรุอันไม่เป็นมงคล)
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้มีสภาพเหมือนกับกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโดยมีลักษณะเหมือนกรุงศรีอยุธยาเกือบทุกอย่าง ดังจะเห็นได้จากการที่พระบรมมหาราชวังตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และมีกำแพงด้านข้างแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอกเช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ นอกจากนั้นยังมีพระราชมณเฑียรสถานและพระที่นั่งต่าง ๆ คล้ายคลึงกับพระราชมณเฑียรสถานและพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งมีการสร้างเสาชิงช้า หอกลอง บูรณะและสร้างวัดต่าง ๆ เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาด้วย
เมื่อการสร้างพระนคร พระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าที่ได้ทรงทำเมื่อแรกเสวยราชย์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีนี้เมื่อจุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง สัปตศก ตรงกับพุทธศักราช 2328 และให้จัดการสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน
หลังจากเสร็จการสมโภชพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” พระนครนี้จึงมีนามปรากฏเรียกกันต่อมาอย่างสั้น ๆ ว่า กรุงรัตนโกสินทร์
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525
กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 36-38