ราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์สืบย้อนขึ้นไปได้กว่า 800 ปี ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของราชธานี อันเป็นศูนย์รวมของการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินมา 4 ครั้งราชธานีแรกคือกรุงสุโขทัย ต่อมาคือกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะกรุงศรีอยุธยาอันมีนามเต็มว่า “กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมย์” นั้น มีนามสามัญอันปรากฏทั่วไปในพงศาวดาร จดหมายเหตุ หมายรับสั่ง ใบบอก สารตรา และเอกสาร สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ว่า กรุงเทพมหานครบ้าง พระนครบ้าง ตลอดระยะเวลากว่า 400 ปี ฉะนั้น ต่อมาแม้ราชธานีจะย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรีก็ดี กรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี คำเรียกราชธานีว่ากรุงเทพมหานคร หรือ พระนครนั้นก็ยังใช้สืบกันมาโดยตลอด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรง สถาปนาราชธานีใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของ แม่น้ำ เจ้าพระยา เสร็จการฉลองพระนครแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ เปลี่ยนแปลงจากครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า“กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา”
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ ชื่อ กรุงรัตนโกสินทร์จึงมีนามเต็มว่า “กรุงเทพ มหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” อันแปลได้ความว่ามูลเหตุที่ราชธานีใหม่จะได้นามว่ากรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระราชกรัณยานุสรณ์ว่า “การถือน้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก จึงได้ทรงสถาปนาพระอารามในพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำในพระอุโบสถ แล้วจึงพระราชทานนาม พระนครใหม่ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้เป็นศิริสำหรับ พระนคร… นามซึ่งว่า รัตนโกสินทร์ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านรับสั่งว่า เพราะท่านประสงค์ความว่า เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เป็นหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อถึงการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาอันใหญ่นี้ จึงได้โปรดให้ข้าราชการมากระทำสัตย์สาบาน แล้วรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร
คำว่า “กรุง” ตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 หมายถึง “เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ประจำของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเมืองที่ตั้งสถานที่ทำการของรัฐบาล แต่ก่อนใช้ในความหมายว่า ประเทศ ก็มีเช่นคำว่า “กรุงสยาม” อนึ่ง ตามพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีว่า “คำว่า “กรุง” นี้ เดิมหมายความว่า “แม่น้ำ” โดยอรรถาธิบายว่า ผู้ใดมีอำนาจเหนือพื้นน้ำหรือเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำตั้งแต่ปากน้ำไปจนถึงที่สุดของ แม่น้ำ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้ากรุง แลเมืองที่ เจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ก็เลยเรียกว่า “กรุง” อย่างเมืองหลวงปัจจุบันนี้ เรียกว่า กรุงเทพฯ หรือกรุงเทพพระมหานคร ฉะนั้น”ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน สาส์นสมเด็จว่า กรุงมิได้แปลว่า “เมือง” แต่แปลว่า จักรวรรดิ (Empire) มีประเทศราชน้อยใหญ่เป็นเมืองขึ้น มีใช้ในหนังสือเก่าเวลาออกพระนาม พระเจ้าจักรพรรดิ ออกต่อท้ายนามกรุงก็มี เช่น พระเจ้ากรุงสีพี เป็นต้น
กรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่อยู่ตรงกลางของประเทศ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งสูงขึ้นไปประมาณ 300 กิโลเมตร โดยมีทุ่งตะนาวศรีล้อมอยู่ทางด้านตะวันตก ที่สูงและภูเขาทางด้านเหนือ และที่ราบสูงโคราชทางตะวันออก กำเนิดของพื้นที่บริเวณแอ่งเจ้าพระยา เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นผิวโลก โดยมีร่องรอยฝั่งทะเลของอ่าวไทย ปรากฏไกลถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลทำให้เกิดการตกตะกอนทับถม ฝั่งทะเลเริ่มถอยลงไปทางใต้ จนในปัจจุบันฝั่งทะเลของอ่าวไทย ปรากฏที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงรัตนโกสินทร์ไปทางใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร
การศึกษาสภาพดินบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ได้มีผู้ศึกษาไว้หลายด้าน ที่สมควรนำมาบันทึกไวัในจดหมายเหตุนี้ คือการศึกษาทางด้านวิศวกรรม เพราะจะมีความสัมพันธ์ต่องานอนุรักษ์
กรุงรัตนโกสินทร์ต่อไปข้างหน้าในการศึกษาสภาพดินทางด้านวิศวกรรมที่สำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกกระทำโดยนายชัย มุกตพันธ์ นายไพโรจน์ ถีระวงศ์ และนายวิเชียร เต็งอำนวย แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาเฉพาะสภาพดินในเขตตัวเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับความสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ และได้พิมพ์เผยแพร่
ผลการศึกษาในหนังสือ Engineering Properties of Bangkok Subsoil เมื่อปีพุทธศักราช 2509 ต่อมาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับกองวิเคราะห์และวิจัย กรมทางหลวง ได้ศึกษาต่อจากข้อมูลของนายชัย มุกตพันธ์และคณะ โดยขยายพื้นที่ให้กว้างขวางออกไปจนครอบคลุมทั่วบริเวณที่เป็นดินอ่อนภาคกลางในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และเน้นหนักถึงสภาพดินในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์และพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาในหนังสือ ข้อมูลสภาพดินบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อปีพุทธศักราช 2520 สรุปผลการสำรวจได้ว่า
แนวที่ 1 คลองประปา เริ่มจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ขนานกับทางรถไฟสายเหนือไปตัดตอนที่บริเวณตัดกันระหว่างทางรถไฟสายเหนือกับถนนประชาชื่น แล้วเลาะไปตามถนนประชาชื่นอีกประมาณ 7.5 กิโลเมตร สภาพดินตามแนวดังกล่าว ตอนบนสุดเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนหนาประมาณ 13 - 15 เมตร บางแห่งมีแอ่งของชั้นดินเหนียวอ่อนนี้ลึกลงไปถึงประมาณ 25 เมตร ชั้นดินถัดไปเป็นชั้นดินเหนียวปานกลางมีอยู่เป็นบางแห่ง มีความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่ความลึกประมาณ 15 เมตร ลงมาเป็นดินแข็ง ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวแข็งไปจนถึงความลึกประมาณ 25 - 30 เมตร บางแห่งลึกถึง 35 เมตร จากนั้นก็เป็นชั้นทรายที่แน่นตัว ผิวบนสุดของชั้นทรายตามแนวนี้ขรุขระมากไม่ราบเรียบย)
แนวที่ 2 ถนนพหลโยธิน เริ่มจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาตามถนนสีลม หักเข้าถนนพญาไทตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อไปตามถนนพหลโยธินจนกระทั่งถึงสะพานลอยลาดพร้าว ชั้นดินบริเวณนี้ประกอบด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน ตอนบนหนาประมาณ 6 - 10 เมตร (บริเวณใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาหนามาก) ในชั้นดินอ่อนนี้มีดินผิวบนอยู่หนาประมาณ 2 เมตร ใต้ชั้นดินอ่อนเป็นชั้นดินเหนียวปานกลางหนาประมาณ 3 - 8 เมตร ชั้นดินปานกลางนี้บางลงเมื่อใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา แสดงว่าเกิดการกัดเซาะก่อนที่จะมีการตกตะกอนของชั้นดินเหนียวอ่อน ต่อจากชั้นปานกลางเป็นชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมาก หนาประมาณ 2 - 4 เมตร แล้วจึงถึงชั้นดินเหนียวแข็งมาก ซึ่งหนาประมาณ 3 - 6 เมตร ใต้ชั้นดินเหนียวแข็งมากเป็นชั้นดินเหนียวปนทรายที่แข็งมาก คาดว่าต่อจากชั้นดินเหนียวปนทรายนี้เป็นชั้นทราย เพราะเจาะพบทรายที่บริเวณต้นและปลายแนวนี้
แนวที่ 3 ถนนสุขุมวิท เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านกรมทางหลวงข้ามไปถนนเพชรบุรีไปเข้าถนนสุขุมวิทที่ซอย 27 ไปตามแนวถนนสุขุมวิทจนกระทั่งถึงซอย 103 ลักษณะชั้นดินประกอบด้วยชั้นดินเหนียวอ่อนอยู่ตอนบนหนาประมาณ 8 - 10 เมตร เกือบตลอดสาย ในชั้นดินเหนียวอ่อนมีดินผิวบนอยู่ตอนบนสุดหนาประมาณ 2 - 4 เมตร ต่อจากชั้นดินเหนียวอ่อนเป็นชั้นดินเหนียวปานกลาง หนาประมาณ 3 - 6 เมตร ชั้นดินนี้บางลงเมื่อใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ใต้ชั้นดินเหนียวปานกลางเป็นชั้นดินเหนียวที่แข็งถึงแข็งมากสีเทาหนาประมาณ 3 เมตร ถัดไปเป็นชั้นดินเหนียวที่แข็งมากเช่นกัน แต่เป็นดินเหนียวสีเหลืองปนน้ำตาล แล้วจึงถึงชั้นที่คั่นระหว่างชั้นทรายกับดินเหนียวเป็นชั้นของดินเหนียวปนทราย สันนิษฐานว่า ใต้ชั้นดินเหนียวปนทรายจะเป็นชั้นทรายที่อัดแน่นมากนี้
แนวที่ 4 ถนนพระรามที่ 4 แนวเริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณฝั่งตรงข้ามกับปากคลองตลาดตรงไปถนนหลวง หักเข้าไปถนนพระรามที่ 4 ที่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพฯ แล้วเลียบตามถนนพระรามที่ 4 ไปจนกระทั่งพบกับถนนสุขุมวิท ชั้นดินในแนวนี้ ชั้นดินอ่อนตอนบนหนาประมาณ 10 - 15 เมตร เป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณนี้มีชั้นดินเหนียวอ่อนอยู่หนากว่าปกติพบว่ามีชั้นดินเหนียวปานกลางอยู่เฉพาะบางแห่ง หนาประมาณ 3 - 4 เมตร ชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมากเริ่มจากความลึกประมาณ 15 เมตร ไปจนถึงความลึกประมาณ 23 เมตร ใต้ชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมากนี้ บางแห่งเป็นชั้นดินเหนียวแข็งมาก โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ตามแนวถนนพระรามที่ 4 จากสวนลุมพินีไปจนเกือบถึงถนนสุขุมวิท พบชั้นทรายบาง ๆ ใต้ชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมากนี้ ต่อจากชั้นทรายบางเป็นดินเหนียวแข็งมากสีเหลืองปนน้ำตาล มีหินแปรสภาพปนอยู่ด้วย จากนั้นเป็นชั้นทราย ชั้นทรายบาง ๆ ที่พบบริเวณจากสวนลุมพินี ไปถึงถนนสุขุมวิทอาจเป็นอันตรายต่อฐานรากของสิ่งปลูกสร้าง เพราะมักจะเป็นทางสำหรับระบายน้ำ น้ำที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไม่เป็นน้ำที่อยู่นิ่ง
แนวที่ 5 ถนนวงแหวน คือ แนวที่ 5 ก. เป็นแนวตามถนนวงแหวน แนวเริ่มจากปลายถนนเจริญกรุง บริเวณสะพานกรุงเทพฯ ขนานตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงบริเวณคลองบางมะนาว หักออกไปยังประมาณกึ่งกลางถนนสาธุประดิษฐ์ แล้วตรงไปสิ้นสุดที่คลังน้ำมันเชลล์ ใกล้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่วนอีกแนวหนึ่งคือ แนวที่ 5 ข. เป็นแนวถนนขนานแม่น้ำเจ้าพระยา แนวเริ่มจากปลายถนนเจริญกรุงบริเวณสะพานกรุงเทพฯ เช่นกัน ขนานตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงคลังน้ำมันเชลล์ใกล้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ลักษณะชั้นดินทั้งสองแนวนี้คล้ายคลึงกัน คือมีชั้นดินเหนียวอ่อนอยู่หนาเฉลี่ยประมาณ 12 - 17 เมตร ผิวบนของชั้นดินเหนียวอ่อนนี้ เป็นร่องน้ำจากลำคลองไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผิวล่างค่อนข้างจะเรียบ มีลักษณะของการกัดเซาะอยู่ไม่มากนัก ใต้ชั้นดินเหนียวอ่อนเป็นชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมาก ผิวล่างของชั้นดินนี้ไม่สม่ำเสมอ บางแห่งเป็นร่องลึกมีลักษณะการกัดเซาะของร่องน้ำขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป แสดงว่าก่อนการตกตะกอนของชั้นดินนี้ มีทางน้ำเดิมไหลผ่านไปสู่ลำน้ำเจ้าพระยาหรืออาจไหลออกสู่อ่าวไทยเลยทีเดียวก็ได้ ใต้ชั้นดินเหนียวแข็งถึงแข็งมากเป็นชั้นทรายเสียส่วนใหญ่เฉพาะบางแห่งพบแถบของดินเหนียวแข็งมากอยู่อย่างไม่สม่ำเสมอปะปนกับชั้นทราย
แนวที่ 6 ดินแดง – ท่าเรือ เป็นชั้นดินตามแนวที่เริ่มจากดินแดงบริเวณปลายถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ต่อตรงเข้าไปยังบริเวณทางรถไฟ แล้วขนานไปตามทางรถไฟสายแม่น้ำ เมื่อเลยถนนพระรามที่ 4 เล็กน้อย ก็แยกออกเป็น 2 แนว แนวหนึ่งเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย ส่วนอีกแนวหนึ่งแยกไปบริเวณคลังน้ำมัน ชั้นดินตามแนวดังกล่าวนี้ประกอบด้วย ชั้นดินเหนียวอ่อนหนาประมาณ 13 เมตร อยู่ตอนบน ใต้ชั้นดินเหนียวอ่อนเป็นชั้นดินเหนียวปนทรายละเอียดที่แข็ง ผิวบนของชั้นดินเหนียวปนทรายละเอียดนี้ ค่อนข้างจะราบเรียบไม่มีลักษณะของการถูกกัดเซาะ ต่อจากนั้นก็เป็นชั้นดินเหนียวปนทรายละเอียดที่แข็งมาก พบว่ามีแถบทรายปนอยู่ในชั้นดินนี้เป็นแห่ง ๆ ทั่ว ๆ ไป ผิวบนของชั้นดินไม่ราบเรียบมีร่องรอยของการกัดเซาะอยู่มาก
การบริหารนครกรุงเทพธนบุรีในรูป “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และเทศบาลนครหลวง ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25 ได้ดำเนินมา 1 ปี ก็สิ้นสุด และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จัดรูปการปกครองใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร” โดยรวมกิจการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาลในเขตนครหลวง (ประกอบด้วย สุขาภิบาลมีนบุรี สุขาภิบาลหนองจอก สุขาภิบาลบางแค สุขาภิบาลลาดกระบัง สุขาภิบาลราษฎร์บูรณะ สุขาภิบาลบางกะปิ สุขาภิบาลหนองแขม และสุขาภิบาลอนุสาวรีย์) มาเป็น “กรุงเทพมหานคร” และได้จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ เป็นลักษณะผสมระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ให้มีฐานะเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 นี้เอง ทำให้เกิดองค์การบริหารใหม่ขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” ชื่อขององค์การบริหารนี้เป็นชื่อที่พ้องกับชื่อของนครหลวงของประเทศ และถือเป็นการสิ้นสุดของยุคการปกครองท้องถิ่นนครหลวงในระบบที่เรียกว่า “เทศบาล” ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 และประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 แทน อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 นี้ ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความเหมาะสม รวมทั้งหมดถึง 5 ครั้ง และโดยรูปแบบการปกครองกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 นี้ ทำให้กรุงเทพมหานครต้องมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองมาจากการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 คน มีสภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 41 คน ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาอยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะมิได้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี ทั้งนี้ เพราะได้เกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถที่จะประสานกันได้ จึงทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรี (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) ตามมาตรา 21ื ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2520 และมีผลทำให้กรุงเทพมหานครเข้ายุคแห่งการมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาจากการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขต ภายใน 90 วัน ซึ่งวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 สำหรับสมาชิกสภาเขตให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาเขต
ที่มาของสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เมื่อ "กรุงเทพมหานคร" ถูกตั้งขึ้นโดยเปลี่ยนแปลงจาก "เทศบาลนครหลวง" เดิม ให้มีการปกครองและการบริหารรูปแบบพิเศษ โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 พ.ศ. 2515 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น (นายชำนาญ ยุวบูรณ์) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการออกแบบเครื่องหมายของเทศบาลนครหลวง เพื่อขอใช้เครื่องหมายเทศบาลนครหลวง รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณทรงเครื่องด้านหน้า (ออกแบบโดยพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ) ้ภาพพื้นเป็นภาพลายเส้น "ก้อนเมฆ" ให้เห็นชัดว่าอยู่บนสวรรค์ มีเส้นรัศมีห่างรอบๆ ทั้งซ้ายชวาของภาพพระอินทร์ นอกจากนี้ ได้เปลี่ยนตัวอักษรกำกับภาพจาก "่เทศบาลนครหลวง" เป็น "กรุงเทพมหานคร" ด้วย
ตราพระอินทร์ทรงช้างเกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพราะว่ากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองเทวดาของพระอินทร์ ดังปรากฏตามชื่อเมือง สาเหตุที่ยกกรุงเทพมหานคร ฯ เป็นเมืองพระอินทร์สันนิษฐานว่า เพราะคำว่า “รัตนโกสินทร์” คือแก้วของพระอินทร์ อันได้แก่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งมีสีเขียวเหมือนสีกายของพระอินทร์ เมืองของพระแก้วมรกตจึงเป็นเมืองของพระอินทร์
รูปพระอินทร์ ที่เป็นตรากรุงเทพมหานครนั้น ถือวชิราวุธหรืออาวุธที่เป็นสายฟ้า เป็นอาวุธประจำพระองค์ ทั้งนี้ เพราะพระอินทร์มีหน้าที่ขับไล่ประหารอสูรหรือฤาษีที่ทำความมืดมัวแก่โลก กล่าวคือฤาษีบำเพ็ญตบะจนโลกมืดมัว ฝนไม่ตกตามฤดูกาล พระอินทร์จะทรงใช้สายฟ้าหรือใช้นางอัปสรไปยั่วยวนทำลายตบะฤาษี ฝนก็จะตก ท้องฟ้าแจ่มใส เกิดแสงสว่างและความชุ่มชื้นดังเดิม ดังนั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ จึงมีความหมายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา เหตุผลเพราะพิจารณาเห็นว่าความหมายของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนั้น หมายถึงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ท้องถิ่น เป็นความหมายที่ดี เหมาะสมกับการนำมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525
กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 36-38