มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาขึ้นเป็นราชธานี พร้อมกับการสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพุทธศักราช 2325 และสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ได้ทรงสืบพระบรมราโชบายสร้างสรรค์กรุงรัตนโกสินทร์ให้วัฒนาถาวรขึ้นเป็นลำดับ สมเป็นศรีพระนคร มีความสง่างามปรากฏไปในนานาประเทศ ยังประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทยและผู้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทั่วหน้าแม้จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ในปีพุทธศักราช 2475 รัฐบาลที่บริหารประเทศก็ได้รับสนองพระบรมราชโองการสืบแทนต่อมาจนกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุบรรจบครบ 200 ปีแล้วนั้น กรุงรัตนโกสินทร์ก็ต้องประสบกับปัญหาเช่นเดียวกับมหานครใหญ่อื่น ๆ ที่ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกลับเป็นสิ่งกัดกร่อนบั่นทอนตนเอง ด้วยสภาพธรรมชาติ ความสง่างาม ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระนครได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหานานัปการ อันยากแก่การแก้ไขในระยะเวลาอันสั้น อีกประการหนึ่ง กรุงรัตนโกสินทร์ได้เจริญขึ้นในลักษณะของความเป็นแหล่งรวมความเจริญและสถาบันสำคัญทั้งปวงของชาติ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ อาทิ ศูนย์กลางการบริหารประเทศ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการทหาร ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ ศูนย์กลางการจ้างงาน ศูนย์กลางงานราชการต่าง ๆ ของประเทศ และทั้งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยด้วย สภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันจึงเป็นเสมือนเมืองเอกหรือเอกนคร (primate city) ที่เป็นหัวใจของประเทศ เป็นเมืองเดียวที่มีขนาดใหญ่และควบคุมความสำคัญต่าง ๆ เหนือกว่าเมืองที่อยู่ในอันดับรองลงไปอย่างมาก และหากเกิดภาวะคับขันชะงักงันประการใดขึ้นในเมืองเอกนี้แล้ว ย่อมส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ อันเป็นจุดอ่อนสำคัญที่การแก้ปัญหาใด ๆ จักต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวังเพราะสาเหตุของปัญหานั้น จะเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวโยงถึงกันตลอด
ความเจริญเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดช่วงเวลา 200 ปีที่ได้กล่าวพรรณนามาข้างต้น มีสถิติของกองการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และของกองผังเมือง กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า
กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสถาปนาในพุทธศักราช 2325–2328 เนื้อที่ 2,589 ไร่
พุทธศักราช 2443 ประชากร 600,000 คน เนื้อที่ 8,330 ไร่
พุทธศักราช 2499 ประชากร 1.7733 ล้านคน เนื้อที่ 109,841.875 ไร่
พุทธศักราช 2500 ประชากร 1.9081 ล้านคน เนื้อที่ 109,841.875 ไร่
พุทธศักราช 2510 ประชากร 3.1236 ล้านคน เนื้อที่ 109,841.835 ไร่
พุทธศักราช 2515 ประชากร 3.7937 ล้านคน เนื้อที่ 109,841.835 ไร่
พุทธศักราช 2525 ประชากร 5.4682 ล้านคน เนื้อที่ 980,460.625 ไร่
จะเห็นได้ว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนประชากรของกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เพราะอัตราเกิดและอัตราตายยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรต่ำประมาณร้อยละ 4.7 ต่อปี แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอัตราการตายลดต่ำลง เนื่องจากเทคนิควิทยาการทางการแพทย์สาธารณสุขในขณะที่อัตราเกิดยังสูงอยู่ พร้อมกันนี้ได้มีผู้อพยพจากหัวเมืองเข้ามาแสวงหางานและความเจริญก้าวหน้าในชีวิตในพระนครอีกด้วย และหลังจากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีโครงการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา การเพิ่มของประชากรในนครหลวงจึงยิ่งทบทวี กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันจึงต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ 4 ประการ คือ ปัญหาความแออัดของอาคารและสิ่งก่อสร้าง ปัญหาการจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และปัญหาน้ำท่วมและการทรุดตัวของแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์
เกิดขึ้นจากการที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบการปกครองกรุงรัตนโกสินทร์มีเพียงเทศบัญญัติหรือที่ในปัจจุบัน เรียกว่า ข้อบัญญัติสำหรับควบคุมการก่อสร้าง ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้ที่ดิน จึงได้แต่เพียงควบคุมความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคาร ส่วนที่ดินในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชนนั้น กฎหมายได้ให้อำนาจผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของตนเองไม่ว่ากรณีใด ๆ จึงทำให้บุคคลที่มีที่ดินก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ได้ตามความต้องการเพื่อประโยชน์ส่วนตน กฎหมายในการเวนคืนที่ดินก็ค่อนข้างจะใช้เวลานาน และถ้าไม่เกี่ยวกับกิจการที่สำคัญจริง ๆ แล้ว ทางราชการจะไม่เวนคืนที่ดินเพราะมีปัญหาด้วยเรื่องงบประมาณในการจ่ายเงินชดเชย กรุงรัตนโกสินทร์จึงเติบโตอยู่ภายใต้อิทธิพลของเอกชน การใช้ประโยชน์ของที่ดินไม่มีระเบียบและไม่ประหยัด ทำให้ประสิทธิภาพของที่ดินเสียไป มีการปลูกสร้างอาคารกันตามใจชอบ จึงปรากฏว่าในย่านกลางเมืองมีอาคารหลายชนิดเข้าไปตั้งอยู่ เช่น คลังเก็บสินค้า โรงงาน ตลาดกลาง สนามกีฬา สนามแข่งม้า สถานีรถไฟ โรงเรียน ฯลฯ ตึกแถวก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นย่านการค้ากระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงรัตนโกสินทร์ สภาพย่านการค้าแต่ละแห่งแออัดเบียดเสียด อาคารสูง ๆ ต่ำ ๆ ขาดความเป็นระเบียบ ความงามและความกลมกลืนทางสถาปัตยกรรม การปลูกสร้างอาคารส่วนใหญ่นิยมวางอาคารไปตามความยาวของสองฟากถนนสายสำคัญชิดขอบทางเท้าทำให้ที่ดินเฉพาะด้านที่ติดถนนมีคุณค่าในทางการค้า ถนนจึงแคบและคับคั่งด้วยการจราจร ทั้งยังต้องใช้เป็นที่จอดรถด้วย ส่วนบริเวณที่ดินด้านหลังตึกแถว ซึ่งถูกปิดกั้นและถูกทำลายสภาพแวดล้อม ได้รับบริการสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ราคาจึงตกต่ำ และแปรสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรมไปในที่สุด
จากการสำรวจเมื่อปีพุทธศักราช 2520 ปรากฏว่ามีประชากรถึงร้อยและ 20 อาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม
การขยายตัวของกรุงรัตนโกสินทร์ออกไปยังบริเวณรอบนอกแถบถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน บางกะปิ บางแค จึงเกิดขึ้นจากความจำเป็นในเรื่องที่อยู่อาศัย มีการจัดสรรที่ดินและอาคารเช่าซื้อกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ดำเนินการโดยองค์การของรัฐบาลและเอกชน แต่โดยที่ยังขาดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เหมาะสมเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่จัดสรรและอาคารเช่าซื้อบางแห่งจึงมิได้คำนึงถึงการจัดสาธารณูปโภคที่เหมาะสมครบถ้วนเพียงพอ มีการตัดถนนขยายบริเวณชานเมืองโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทางผังเมือง ขนาดถนนภายในแคบเกินไป ไม่มีทางเดินเท้า ทางระบายน้ำ ขนาดที่ดินไม่ได้สัดส่วนกับอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นในที่ดินนั้น ขาดบริเวณสวนและสนามสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น อันจะทำให้บริเวณเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมย่อย ๆ ในอนาคต
 
ความแออัดของอาคารและสิ่งก่อสร้างในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จุดที่สำคัญที่สุด คือ บริเวณระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นบริเวณเมืองเก่าแรกกำเนิดของกรุงรัตนโกสินทร์ อันมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีการใช้ที่ดินแออัดกว่าบริเวณที่ขยายออกไปในตอนหลัง ๆ เป็นย่านธุรกิจที่ตกต่ำร่วงโรย และเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญ ๆ วัดวาอาราม ปูชนียสถาน และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศิลปสมบัติอันล้ำค่าของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ควรได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงโดยเร่งด่วน
โดยที่กรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยก่อนใช้การสัญจรทางน้ำเป็นสำคัญ จึงมีถนนหลักเพียงไม่กี่เส้นทางและขนาดถนนไม่กว้างนัก นอกนั้นเป็นทางเท้าและตรอกแคบ ๆ วกเวียนเป็นจำนวนมาก แต่กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันเป็นเมืองคู่ที่แบ่งแยกโดยแม่น้ำเจ้าพระยา ความจำเป็นในการเชื่อมต่อระหว่างเมืองทั้งสองจึงอยู่ในระดับสูง และเป็นยุคของการใข้รถยนต์เป็นสื่อสำคัญในการสัญจรพื้นฐานของประชากรในกรุงรัตนโกสินทร์ ใน 3 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก การเดินทางประจำวันที่เริ่มจากนอกเมืองมาสิ้นสุดลงที่ใดที่หนึ่งในตัวเมือง และส่วนมากจะจบลงที่ย่านใจกลางธุรกิจการค้าภายในเมือง ลักษณะที่สอง การเดินทางประจำวันที่เริ่มจากภายในตัวเมืองแล้วไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใดที่หนึ่งภายในตัวเมืองเดียวกันนั่นเอง และลักษณะสุดท้ายคือการเดินทางประจำวันที่เริ่มจากในเมืองออกไปยังนอกเมืองรอบ ๆ แต่การเดินทางประเภทนี้มีน้อย โดยทั่ว ๆ ไปมักจะไปยังโรงงานหรือสำนักงานที่ตั้งอยู่ชานเมือง
โดยที่ถนนสายหลักสู่ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ขาดระบบการเชื่อมต่อถึงกัน การสัญจรจากทิศหนึ่งไปยังอีกทิศหนึ่ง จึงต้องอ้อมผ่านเข้ามาในตัวเมือง ประกอบกับระบบถนนที่มีอยู่เป็นแบบธรรมดา ทุกทางแยกรถวิ่งตัดกันในระดับเดียวและต้องจอดคอยสัญญาณไฟ เมื่อมีรถมากการจราจรจึงติดขัดต่อเนื่องกันไปทั้งหมด นอกจากนั้นซอยต่างๆ ที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นถนนสายหลัก หากเป็นเพียงเส้นทางที่จะให้ยานพาหนะจากย่านที่อยู่อาศัยออกมาสู่ถนนใหญ่ แต่บังเอิญไปเชื่อมระหว่างถนนสายหลักจากสายหนึ่งถึงอีกสายหนึ่งได้ จึงทำให้ซอยนั้นกลายเป็นเส้นทางสัญจรหลักไป ในที่สุดก็กลายเป็นถนนแคบที่เป็นสาเหตุปัญหาการจราจรอีกอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ ในบางส่วนของกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะห่างของถนนสายหลักแต่ละสายห่างกันมาก ทำให้เกิดผืนที่ดินขนาดใหญ่ การตัดถนนซอยสำหรับบริเวณที่พักอาศัยซึ่งอยู่ลึกจากถนนใหญ่ และอยู่ด้านหลังอาคารแถว จึงถูกตัดจากถนนใหญ่ ลึกเข้าไปทั้งสองข้างมีลักษณะคับแคบคดเคี้ยวไปมา ไม่ได้มาตรฐานขนาดชุมชนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถนนซอยเปล่านี้จะห่างกัน 50 - 150 เมตร กว้าง 4– 5 เมตร ยาวตั้งแต่ 600 - 2,000 เมตร อันก่อให้เกิดสภาพการจราจรติดขัดบริเวณปากซอยในชั่วโมงเร่งด่วน
การขาดแคลนที่จอดรถก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการจราจรติดขัด ดังได้กล่าวแล้วว่า ในย่านธุรกิจ การปลูกสร้างอาคาร ร้านค้า และบ้านเรือน มักจะปลูกชิดขอบถนน ผิวการจราจร จึงต้องใช้เป็นที่จอดรถยนต์ กรุงเทพมหานครจึงต้องออกกฎหมายห้ามการจอดรถบนถนนบางสายในชั่วโมงเร่งด่วน กำหนดให้เดินรถทางเดียว กำหนดทางวิ่งเฉพาะรถประจำทาง ตลอดจนกำหนดเวลาห้ามรถบรรทุกสิบล้อวิ่ง อันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้ที่ดินมาแต่แรก อันก่อให้เกิดปัญหาความแออัดของอาคารและสิ่งก่อสร้างนั้น ได้ส่งผลกระทบถึงปัญหาการจราจรคับคั่งด้วย กรุงรัตนโกสินทร์มีย่านรับส่งสินค้า ตลาดกลาง โกดังสินค้ากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะแถบใจกลางเมืองสถานีรถไฟกรุงเทพฯ เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นเขตชานเมือง แต่ในปัจจุบันความเจริญของเมืองได้ขยายตัวโอบล้อมไว้จนกลายเป็นย่านกลางเมือง ทุกวันนี้สถานีรับส่งผู้โดยสาร เขตสับเปลี่ยน โรงซ่อม โรงรถจักร สถานีขนถ่ายสินค้า ซึ่งมีพื้นที่รวมกันนับพันไร่ ส่วนใหญ่ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมแต่ครั้งเมื่อสร้าง และยังคงเป็นชุมทางรถไฟสู่สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ มีรถไฟเข้าออกวันหนึ่ง ๆ นับร้อยขบวน การจราจรบนถนนทุกสายที่ตัดผ่านทางรถไฟต้องหยุดชะงักเมื่อรถไฟแล่นผ่าน รัฐบาลได้เคยมีโครงการจะย้ายสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ออกไปอยู่ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงกับเวนคืนที่ดินไว้แล้ว แต่ก็ติดขัดด้วยงบประมาณดำเนินการ โครงการนั้นจึงระงับไป
ปัญหาการจราจรในกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นปัญหาที่มีสาเหตุจากองค์ประกอบต่าง ๆ ภายใน อันเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวพันซึ่งกันและกัน และยากที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว แต่รัฐบาลก็ได้พยายามบรรเทาปัญหาดังกล่าว ด้วยการจัดเส้นทางระบายยวดยานที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเข้ามาเพิ่มปัญหาการจราจรในกรุงรัตนโกสินทร์ 2 โครงการ คือ
เมื่อพุทธศักราช 2514 คราวเฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช รัชกาลปัจจุบัน รัฐบาลได้เริ่มการสร้างถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนวงแหวนรอบกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอนุสรณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งเนื่องในการพระราชพิธีดังกล่าว
ต่อมาในพุทธศักราช 2515 รัฐบาลได้ตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อรับผิดชอบการจัดสร้างระบบขนส่งมวลชนในกรุงรัตนโกสินทร์ โครงการแรกที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการคือ การสร้างทางด่วน 3 สาย ซึ่งบางตอนเป็นถนนยกระดับ สายที่ 1 ดินแดง – ท่าเรือ ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร สายที่ 2 บางนา – ท่าเรือ ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร สายที่ 3 ดาวคะนอง – ท่าเรือ ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร ทางด่วนสองสายแรกได้เสร็จเรียบร้อยเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้รับพระราชทานนามว่า ถนนเฉลิมมหานคร
อย่างไรก็ตาม จากสภาพทางภูมิทัศน์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งอยู่จุดกลางของประเทศอันเป็นแนวบรรจบระหว่างดินแดนส่วนเหนือและส่วนใต้ ทั้งอยู่บริเวณปากอ่าวอันเป็นทางออกสู่ทะเล การคมนาคมติดต่อและการขนส่งสินค้าระหว่างดินแดนทั้งสองภาคก็ดี การขนส่งสินค้าทางทะเลก็ดี ล้วนต้องผ่านเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบกับกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีปัญหาการจราจรภายในเมืองของตนเองดังกล่าว ปัญหานี้ จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวมด้วย แม้จะได้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่จังหวัดชลบุรี สร้างท่ากาศยานสากลที่จังหวัดเชียงใหม่ และสร้างทางเลี่ยงเมืองรอบกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตามไปแล้ว ปัญหาการจราจรในกรุงรัตนโกสินทร์ก็มิได้ลดลงแต่ประการใด
กรุงรัตนโกสินทร์เคยได้รับสมญาว่า “เวนิสแห่งภาคตะวันออก” ด้วยมีแม่น้ำคูคลองตัดผ่านไปตามส่วนต่าง ๆ ของเมือง เพื่อการชักน้ำเข้ามาใช้อุปโภคบริโภค และเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ตลอดจนใช้เป็นทางระบายน้ำเวลาฝนตกหรือในฤดูน้ำหลาก ด้วยพื้นภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวแล้ว ครั้นเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว คูคลองถูกถมเพื่อทำถนนเป็นส่วนมาก คงเหลือแต่ท่อระบายน้ำสองฟากถนนมาแทนที่ คลองขนาดใหญ่ก็ถูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาเหลือสภาพเพียงลำคลองแคบ ๆ ตื้นเขินและสกปรก ต้นไม้สองฟากถนนอันสงบ ร่มรื่น และช่วยแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษของเมือง ซึ่งปลูกไว้แทบทุกถนนครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ถูกตัดโค่นลงแทบหมดสิ้น เพราะต้องขยายถนนให้กว้างขวางออกไป ต้นไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ทดแทนก็ไม่อาจเจริญได้เต็มขนาดแห่งพืชพันธุ์ด้วยสภาวะแวดล้อมไม่อำนวย อาคารร้านค้าและบ้านเรือนซึ่งก่อสร้างในที่ลุ่มก็ถูกถมปรับระดับขึ้นสูงกว่าถนน เมื่อฝนตกแทนที่น้ำฝนจะสามารถระบายสู่คูคลองได้เหมือนแต่ก่อนก็กลับไหลลงสู่ถนน เกิดน้ำท่วมถนน และอาจขังอยู่ได้เป็นเวลานานหากเป็นฤดูน้ำหลาก จากนั้นจึงค่อยระบายลงสู่ท่อระบายน้ำ หรือแหล่งเสื่อมโทรมซึ่งยังเป็นที่ลุ่ม และระบายออกสู่คูคลองที่ยังเหลืออีกทีหนึ่ง นอกจากนี้โรงงานอาคารพาณิชย์และบ้านเรือน มักจะปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลออกสู่ท่อระบายน้ำโดยไม่มีเครื่องกรอง น้ำเหล่านี้จึงเป็นน้ำโสโครกมาก อีกประการหนึ่ง ปากคูคลองต่าง ๆ ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยามักจะมีทำนบกั้น เพื่อป้องกันอุทกภัยยามน้ำทะเลหนุนสุงหรือในฤดูน้ำหลาก น้ำในคูคลองต่าง ๆ จึงขังเน่าเหม็นอยู่เป็นเวลานาน และยามระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก็ก่อให้เกิดปัญหาแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าขึ้นด้วย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในเรื่องระบบการระบายน้ำนี้ เป็นปัญหาหนักที่กรุงเทพมหานครได้พยายามดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่มาโดยตลอด อาทิ การจัดโครงการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร จัดสร้างโรงสูบน้ำปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้ จัดสร้างประตูน้ำชนิดเรือผ่านได้ตามคลองเหนือคลองผดุงกรุงเกษม คลองบางลำภู คลองโอ่งอ่าง คลองวาสุกรี คลองเงิน คลองเปรมประชากร และคลองริมทางรถไฟบริเวณยมราช จัดซ่อมแซมประตูน้ำที่คลองหลอด สร้างโรงกำจัดน้ำโสโครกที่บริเวณคลองช่องนนทรีย์ สร้างโรงกำจัดน้ำเสียที่ห้วยขวาง ให้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ สร้างโรงกำจัดน้ำเสีย ซึ่งมีโรงงานที่ทำได้ขั้นมาตรฐาน คือ โรงงานผลิตน้ำอัดลมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการเฉพาะกิจต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีปัญหาทั้งเรื่องแหล่งเงินทุนและระบบบริหารงาน จึงทำให้การดำเนินงานตามโครงการแผนหลักต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างล่าช้า ไม่ทันกับความต้องการของประชาชน และความเจริญเติบโตของเมือง
สภาพแวดล้อมเป็นพิษอีกเรื่องหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ปัญหาเรื่องเสียง และอากาศเสีย ซึ่งมีทั้งในรูปของฝุ่งละออง ควัน หรือไอ อันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันและถ่านหิน ก๊าซพิษและก๊าซเสียต่าง ๆ กลิ่นอันไม่พึงปรารถนา อันมีสาเหตุจากการก่อสร้างอาคารร้านค้าและที่อยู่อาศัยอย่างแออัด ผิดสุขลักษณะ การใช้ยวดยานซึ่งเครื่องยนต์ชำรุด การทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ และการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลได้พยายามลดตัวการหรือแหล่งที่ทำให้อากาศเสีย โดยการควบคุมจำนวนประชากร ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด ควบคุมยานพาหนะให้ใช้เครื่องยนต์ที่มีสภาพสมบูรณ์ และหาทางลดปริมาณรถยนต์โดยสร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อผ่อนคลายปัญหา แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นกับประชากรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการสร้างปัญหา จะให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใดด้วย
ดังได้กล่าวแล้วว่า สภาพพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่ราบลุ่ม มีระดับโดยเฉลี่ย 1.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งตามสภาพธรรมชาติแล้ว พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี้จะเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ มากน้อยขึ้นกับภูมิอากาศในแต่ละปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กรุงรัตนโกสินทร์ได้ประสบสภาวะน้ำท่วมอย่างหนักหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากในหลายบริเวณ ถนนสายต่าง ๆ ถูกน้ำท่วมเป็นเวลาหลายวัน บ้านพักอาศัยบริเวณชานเมืองบางแห่งจมอยู่ในน้ำระดับสูงตั้งแต่ 0.50 เมตรถึงมากกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะบริเวณตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ลาดพร้าว บางกะปิ หัวหมาก และพระโขนง
ปัญหาน้ำท่วมในกรุงรัตนโกสินทร์เกิดจากสาเหตุใหญ่ 3 ประการ คือ ประการแรก น้ำหลากจากทางเหนือของประเทศ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นมาก ประการที่สอง การหนุนเนื่องของน้ำทะเลจากปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทย และประการที่สาม การมีฝนตกหนักในเขตพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์นั้นเอง เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตมรสุม โดยเฉพาะในเดือนกันยายนถึงตุลาคมจะมีฝนตกชุก ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรับน้ำจากต้นน้ำทางภาคเหนือระบายไม่ทัน กอปรกับถ้าอยู่ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนและฝนตกหนักในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ จะก่อให้เกิดน้ำท่วมอย่างมากในข่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้น จากการสำรวจวิจัยของนักวิชาการหลายฝ่าย ยังได้พบว่าพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรุดตัวลงไปอย่างมากและต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะในบริเวณลาดพร้าว บางกะปิ หัวหมาก และพระโขนง มีอัตราการทรุดตัวมากที่สุด ทำให้ปัญหาน้ำท่วมที่ร้ายแรงอยู่แล้วกลับทวีมากขึ้น โดยทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นและน้ำจะขังอยู่นานกว่าปกติ ส่วนบริเวณที่ไม่เคยมีน้ำท่วมมาก่อนก็จะกลับมีน้ำท่วมขึ้นอีก และในอนาคตบริเวณนี้จะเกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะได้รับผลร้ายแรงจากการทรุดตัวของพื้นดินมากกว่าบริเวณอื่น ๆ
ลักษณะพิเศษของชั้นดินก็คือ เมื่อเกิดการทรุดตัวยุบลงไปแล้ว พื้นดินจะไม่มีการขยายตัวกลับคืนมาได้ ดังนั้น พื้นที่ที่ทรุดลงไปแล้วในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ จะไม่สามารถทำให้กลับคืนสู่ระดับเดิมได้ และถ้าปล่อยให้ทรุดตัวลงไปโดยลำดับ ก็จะเกิดบริเวณพื้นที่ต่ำและจมน้ำขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เป็นผู้ประสานงานให้มีการศึกษาวิจัยและสำรวจในการป้องกันและแก้ไขวิกฤติการณ์น้ำบาดาลและแผ่นดินทรุด มีแผนการดำเนินงาน 4 ปี (พุทธศักราช 2521 - 2524) โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย คือ
1. โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำบาดาลในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ให้กรมทรัพยากรธรณี และแผนกวิศวกรรมแหล่งน้ำ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียเป็นผู้ดำเนินงาน
2. โครงการวิจัยการทรุดตัวของพื้นดิน เนื่องจากการใช้น้ำบาดาล ให้แผนกวิศวกรรมธรณีและการขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียเป็นผู้ดำเนินงาน
3. โครงการเดินระดับสำรวจการทรุดตัวของพื้นดินในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ให้กรมแผนที่ทหารเป็นผู้ดำเนินงาน
งานสำรวจเพื่อหาอัตราการทรุดตัวนั้น ได้ดำเนินงานสำรวจ 2 วิธีคือ วิธีที่ 1 โดยการเดินระดับจากหมุดหลักฐาน ซึ่งติดตั้งบนภูเขาที่จังหวัดราชบุรี มายังหมุดหลักฐานในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ทุก ๆ 6 เดือน และวิธีที่ 2 การติดตั้งอุปกรณ์วัดการทรุดตัวระดับตื้น 1 เมตร จนถึง 400 เมตร ทั้งสองวิธีนี้สามารถใช้ตรวจสอบค่าการทรุดตัวซึ่งกันและกันได้ดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดการทรุดตัวที่ความลึกต่าง ๆ กัน จำนวน 27 สถานีในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ผลการสำรวจในช่วง 2 ปี (พุทธศักราช 2521 - 2522) พบว่า บริเวณลาดพร้าว หัวหมาก พระโขนง บางนา มีอัตราการทรุดตัวสูงสุดประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี ขณะที่ใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์มีการทรุดตัวประมาณ 5 เซนติเมตรต่อปี และฝั่งธนบุรี นนทบุรี และดอนเมือง มีการทรุดตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี
จากการศึกษาวิจัยและสำรวจพบว่า สาเหตุใหญ่ของการทรุดตัวคือ การสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินขนาดที่น้ำธรรมชาติจะไหลเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันมีบ่อบาดาลทางราชการและเอกชนมากกว่า 10,000 บ่อในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ และผู้ที่ใช้น้ำบาลมาก ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้ำอัดลม โรงงานเบียร์ และโรงงานกระดาษ รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ และการประปานครหลวงอีกด้วย ปริมาณ การใช้น้ำบาดาลปัจจุบันสูงถึงหนึ่งล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน การสูบน้ำจากชั้นกรวดทรายใต้ดินทำให้ความดันน้ำในชั้นดังกล่าวลดลง และทำให้น้ำในชั้นดินเหนียวไหลซึมลงสู่ชั้นกรวดทราย ทำให้ชั้นดินเหนียวนั้นยุบตัวลง แรงดันน้ำซึ่งช่วยต้านรับน้ำหนักดินชั้นบน ๆ ก็ลดลงไปด้วย มีผลทำให้เม็ดดินต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น จึงทำให้ชั้นดินนั้นยุบตัวลง พื้นผิวดินจึงทรุดตามลงไปด้วย
กรมทรัพยากรธรณี และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียได้เจาะบ่อสำรวจและติดตั้งเครื่องมือวัดระดับความดันน้ำบาดาลที่ความลำ 100 - 200 เมตร จำนวน 60 บ่อ ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง ผลการสำรวจแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า การทรุดตัวของพื้นดินและการลดความดันน้ำบาดาลมีความสัมพันธ์กันโดยตรง ในบริเวณที่มีอัตราการทรุดตัวสูงระดับความดันของน้ำบาดาลจะลดต่ำลงไปมาก ขณะที่บริเวณที่การทรุดตัวน้อย ระดับความดันน้ำบาดาลจะลดลงไปไม่มากนัก
ในการสำรวจวัดระดับโดยกรมแผนที่ทหารพบว่า ระดับพื้นผิวดินในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ลดต่ำลงทุกปี ระดับโดยเฉลี่ยประมาณ 1.50 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผลจากการสำรวจเมื่อประมาณต้นปีพุทธศักราช 2523 แสดงให้เห็นว่าที่สถานีสำรวจแผ่นดินทรุดหลายแห่งทางตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์มีระดับต่ำกว่า 1 เมตร เช่น ที่การเคหะแห่งชาติ (คลองจั่น) มีระดับ 0.95 เมตร ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดับ 0.46 เมตร วัดราษฎร์ศรัทธารรม ซอยสุขุมวิท 93 ระดับ 0.54 เมตร ที่ศูนย์วิจัยอุตุนิยมวิทยา (บางนา) ระดับ 0.86 เมตร ดังนั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมในเขตกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณดังกล่าวจะมีน้ำท่วมสูงกว่าที่อื่น ๆ และระดับน้ำจะลดลงช้ากว่าบริเวณอื่น ๆ ด้วย
จากอัตราการทรุดตัวของพื้นดินดังกล่าวข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับหมุดหลักฐานระดับเก่าในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ติดตั้งไว้ประมาณ 40 ปีที่แล้ว พบว่ามีการทรุดตัวในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ประมาณ 50 เซนติเมตร และบริเวณหัวหมาก มีการทรุดตัวประมาณ 60 - 80 เซนติเมตร ซึ่งแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ตัวเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการทรุดตัวลงไปแล้วอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณทางตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์มีระดับพื้นดินต่ำมาก และมีอัตราการทรุดตัวสูงมากที่สุด ซึ่งนับว่าอยู่ในอัตราที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น จึงควรที่จะได้มีการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมที่ถาวร และเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในการควบคุมและป้องกันการทรุดตัวของพื้นดินกรุงรัตนโกสินทร์ โดยลดการใช้น้ำบาดาลลงโดยเร็ว ปัจจุบันหมู่บ้านและโรงงานอุตสาหกรรมชานเมือง โดยเฉพาะในเขตบางกะปิ และเขตพระโขนง ใช้น้ำบาดาลเป็นปริมาณมาก เพราะการประปานครหลวงยังมิได้ขยายเขตการส่งน้ำครอบคลุมให้ทั่วถึงบริเวณดังกล่าว ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นซึ่งมีระดับต่ำมากอยู่แล้วกลับทรุดตัวลงไปอย่างรวดเร็ว
ในเรื่องนี้กรมทรัพยากรธรณีได้มีนโยบายจำกัดการใช้น้ำบาดาล โดยจะเรียกเก็บเงินค่าใช้น้ำบาดาล โดยจะเรียกเก็บเงินค่าใช้น้ำบาดาลจากผู้ใช้ อันจะทำให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและลดอัตราการใช้ลง และจะควบคุมการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและความต้องการ
ผู้ใช้น้ำบาดาลรายใหญ่อีกรายหนึ่งก็คือ การประปานครหลวง ซึ่งสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้น้ำบาดาลทั้งหมด โดยมีนโยบายการสูบน้ำบาดาลภายในปีพุทธศักราช 2528 โดยคาดว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นผิวและจัดส่งเข้าทางอุโมงค์จะสำเร็จเรียบร้อย
ส่วนสำนักผังเมืองและกรุงเทพมหานครจะได้ใช้มาตรการในการจัดพื้นที่ตามลักษณะการใช้งาน เพื่อมิให้เกิดปัญหาทางสาธารณูปโภคต่อไป
แม้ปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งสี่ประการดังกล่าว ที่กรุงรัตนโกสินทร์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในทุกมหานครใหญ่ของโลก แต่กรรมวิธีในการแก้ปัญหานั้นย่อมผิดแผกกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อกฎหมาย และที่สำคัญคืออุปนิสัยของประชากร สำหรับประเทศไทย หน่วยงานบริหารซึ่งรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้วยังมีอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งมักปฏิบัติงานซ้ำซ้อนขาดเอกภาพ ขาดงบประมาณ และขาดอำนาจอย่างแทัจริง ทำให้ไม่อาจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยเฉพาะรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจเหนือหน่วยงานเหล่านี้ ได้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้แผนหลักและแนวนโยบายต่าง ๆ ที่วางไว้ต้องเบี่ยงเบนไปจากเดิมด้วยแรงกดดันทางการเมือง งานอนุรักษ์และปรับปรุงกรุงรัตนโกสินทร์จึงยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร แต่จะอย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้สนับสนุนการดำเนินงานหลายโครงการเพื่อชะลอความเจริญเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ให้มีขนาดและขอบเขตที่เหมาะสมเพื่อกรุงรัตนโกสินทร์จะได้เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยและอำนวยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติอย่างเต็มที่
ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพุทธศักราช 2475 กรุงรัตนโกสินทร์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเอง แต่เนื่องจากประชากรในกรุงรัตนโกสินทร์มีอำนาจเรียกร้องทางการเมืองสูง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้เงินอุดหนุนเหนือกว่าที่ให้แก่จังหวัดอื่น ๆ จนมีผู้กล่าวเปรียบเทียบว่า ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนที่หัวโตเท้าลีบ เพราะความเจริญของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นประโยชน์เฉพาะชนกลุ่มน้อย ในขณะที่เมืองในส่วนภูมิภาคและชนบทขาดศูนย์กลางความเจริญ และขาดความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้บรรจุนโยบายกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาค ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พุทธศักราช 2520 - 2524) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พุทธศักราช 2525 - 2529) โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาเมืองหลักให้เจริญสมดุลกับสภาพลักษณะภูมิประเทศและสภาวะเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยดำเนินการตามหลักการพัฒนา ส่งเสริมอาชีพทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการอันเป็นหลักสำคัญในการจ้างแรงงาน เพื่อให้ประชากรในภูมิภาคมีอาชีพประจำ มีรายได้พอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ ปัจจุบันมีโครงการที่ส่งเสริมตามแนวทางนี้ด้วย เช่น โครงการในพระราชดำริต่างๆ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการปฏิรูปที่ดิน โครงการส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร โครงการสร้างงานในชนบท ฯลฯ
เมืองหลักตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ 11 เมือง ได้แก่
เมืองหลักภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง
เมืองหลักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา
เมืองหลักภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง
เมืองหลักภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี
เมืองหลักภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา (หาดใหญ่) และจังหวัดภูเก็ต
กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองหลักภาคกลาง
การควบคุมขนาดครอบครัว
เพื่อให้ครอบครัวแต่ละครอบครัวมีสมาชิกพอสมควรที่หัวหน้าครอบครัวจะให้การเลี้ยงดูและให้การศึกษาเท่าที่จำเป็นได้ เป็นการลดระดับอัตราการขยายตัวตามธรรมชาติของประชากรในกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งเสริมคุณภาพของประชากร และชะลอความเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหากยังมีการขยายตัวของประชากรต่อไปอย่างไม่รู้จบสิ้น ก็ย่อมไม่มีทางที่จะพัฒนาปรับปรุงให้มีบริการสาธารณะได้ทันกับจำนวนประชากรและพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าฐานะทางเศรษฐกิจจะดีเพียงใด เพราะการทุ่มเทงบประมาณแก้ปัญหาสาธารณูปโภคจะปรากฏผลช่วยผ่อนคลายความแออัดได้เพียงชั่วระยะหนึ่ง แต่ครั้นแล้วเมื่อเมืองขยายตัวเพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ความแออัดก็จะปรากฏขึ้นอีกเช่นเดิม ปัจจุบันมีโครงการที่ส่งเสริมแนวทางนี้คือ โครงการวางแผนครอบครัว ฯลฯ
การควบคุมตามผังเมือง
เป็นการกำหนดขนาดของกรุงรัตนโกสินทร์ และดำเนินการควบคุมการใช้ที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างรัดกุม โดยกฎหมายการแบ่งย่านกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง กฎหมายควบคุมการจัดสรรที่ดิน กฎหมายสาธารณสุข และกฎหมายอื่น ๆ ที่จะเป็นเครื่องมือควบคุมความเจริญในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ต้องการได้
เมื่อปีพุทธศักราช 2503 กระทรวงมหาดไทยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านองค์การยูซอม (USOM) ให้คณะลิทช์ฟิลด์ ไว้ท์ทิงบาวน์ แอนด์ แอสโซซิเอท (Litchfield Whiting Bowne & Associates) เข้ามาทำการสำรวจและจัดทำโครงการผังนครหลวง 2533 (Greater Bangkok Plan 2533) ขึ้น เป็นโครงการ 30 ปี มีเป้าหมายประชากรไว้ 4.5 ล้านคน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการขยายตัวของกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดำเนินมาโดยมิได้สอดคล้องกับผังดังกล่าว เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การขาดกฎหมายผังเมืองที่สมบูรณ์ แม้ว่าประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท เป็นกฎหมายผังเมืองฉบับแรกขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2495 ต่อมาได้ยกเลิกโดยออกเป็นพระราชบัญญัติการผังเมือง พุทธศักราช 2518 แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่รัดกุมเพียงพอ จึงยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ ในปีพุทธศักราช 2519 สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้วางผังนครหลวง 2543 โดยยึดหลักผังนครหลวง 2533 เป็นโครงการ 25 ปี ซึ่งกำหนดว่า ประชากรที่หนาแน่นพอเหมาะควรเป็น 7.5 ล้านคนในพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์ นนทบุรี และสมุทรปราการบางส่วน โดยจะได้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ให้มีสาธารณูปโภคสาธารณูปการกระจายตามศูนย์กลางต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และให้มีกฎหมายผังเมืองบังคับให้เป็นไปตามผังที่วางไว้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการประกาศใช้ผังนครหลวงและกฎหมายผังเมืองที่สมบูรณ์ ทางกระทรวงมหาดไทยจึงให้หน่วยงานต่าง ๆ ยึดหลักการดังกล่าวใช้เป็นแม่บทในการพัฒนาบ้านเมืองได้โดยอนุโลมไปก่อน และทางกรุงเทพมหานครได้ทำผังเมืองเฉพาะไว้แล้ว จึงใช้ออกกฎหมายในรูปข้อบัญญัติ (เทศบัญญัติเดิม) เพื่อควบคุมการเติบโตของเมืองให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะตามจุดที่จำเป็นไปพลางก่อน
การพัฒนาเมืองบริวาร
เป็นการสร้างเมืองบริวารขึ้นรอบ ๆ กรุงรัตนโกสินทร์ ให้มีลักษณะเป็นเมืองที่มีสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ประชากรสามารถอยู่อาศัยและประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยมีบริการสาธารณะ สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกภายในเมืองเพียงพอ พึ่งพาเฉพาะความสำคัญทางด้านศูนย์เศรษฐกิจ หรือศูนย์การศึกษาวัฒนธรรมจากเมืองแม่เท่านั้น เมืองบริวารควรอยู่ห่างจากเมืองแม่ 30 - 80 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการขยายตัวของเมืองทั้งสองมาเชื่อมกันในอนาคต เมืองบริวารเหล่านี้จะแบ่งรับประชากรที่อพยพเข้ากรุงรัตนโกสินทร์ และรับประชาชนที่ล้นเกินจากเขตกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาเมืองบริวารของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร
การเร่งรัดปรับปรุงสภาวะสิ่งแวดล้อมของกรุงรัตนโกสินทร์
การปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม การกำจัดขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูลและน้ำเสีย การป้องกันอากาศเป็นพิษและเสียงรบกวน ตลอดจนการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะในเรื่องการขจัดแหล่งเสื่อมโทรม ควรมีการวางนโยบายที่ดี เลือกผู้บริหารที่ชำนาญงาน พิจารณาแหล่งที่สะดวกสบายเหมาะกับการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ กลั่นกรองจัดเตรียมงบประมาณในการลงทุนทำโดยไม่กระทบกระเทือนต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ และเลือกวัตถุก่อสร้าง แรงงานที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในแหล่งเสื่อมโทรมพอใจกับการปรับปรุงสงเคราะห์ เพราะปกติประชาชนมักไม่คุ้นกับการปรับปรุงสงเคราะห์แบบนี้ และมักอยากจะอยู่ในแหล่งเดิม ดังนั้น ถ้าวางแผนงานไม่ละเอียดถี่ถ้วนพอจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมาย
ปัจจุบันรัฐบาลโดยการเคหะแห่งชาติได้พยายามส่งเสริมโครงการสร้างอาคารเช่าซื้อสำหรับประชาชนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยกำหนดให้สภาพอาคารมีมาตรฐานดีพอสมควรตามย่านชานเมือง พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่สาธารณะประเภทต่าง ๆ ควบคู่กันไปด้วย
การสร้างนิคมอุตสาหกรรม
โดยหาทำเลและเลือกกิจกรรมอุตสาหกรรมที่จะผลักดันออกจากกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดนโยบายและมาตรการกระจายแหล่งที่ตั้งอุตสาหกรรม ย้ายโรงงานบางประเภทออกไปใกล้แหล่งวัตถุดิบและแรงงาน รวมทั้งพยายามดึงอุตสาหกรรมให้ไปสู่เมืองเล็ก ๆ โดยกำหนดประเภทและชนิดของอุตสาหกรรมที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งไม่อนุญาตให้มีการขยายในประเภทและชนิดของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในปัจจุบันจึงมีย่านโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ชานกรุงรัตนโกสินทร์หลายจุด เช่น ที่รังสิต บางชัน พระประแดง อ้อมน้อย นอกจากนี้ สำนักผังเมืองได้กำหนดเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เห็นว่ามีทำเลเหมาะสมบริเวณรอบนอกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ในจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และชลบุรี
การอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม
โดยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์อาคารสถานที่ บริเวณอันมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมในแนวความคิดใหม่ โดยให้สถานที่บริเวณนั้นผสมกลมกลืนไปกับชีวิตและเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของมนุษย์ในสังคม ปัจจุบันมีโครงการที่สนับสนุนแนวทางนี้คือ โครงการกรุงรัตนโกสินทร์ โครงการบูรณะวัดประจำรัชกาล โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของกรุงรัตนโกสินทร์ ฯลฯรี
ในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 220 ปี ในพุทธศักราช 2525 รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในรูปโครงการแบบผสมผสาน เพื่อมุ่งประโยชน์ทั้งในด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรม การควบคุมการก่อสร้าง และการใช้ที่ดินในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเรียกว่า “คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์” มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นเลขานุการ ให้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนงานในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างอาคาร บริการพื้นฐานทั้งในด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่จำเป็น ตลอดจนการอนุรักษ์ปรับปรุงบริเวณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สถานและโบราณสถาน โดยมีแผนการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น จากพุทธศักราช 2521–2525 เพื่อร่วมการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 220 ปี และระยะสำหรับแผนการระยะสั้นนั้นเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับการดำเนินงานในเขตกรุงรัตนโกสนิทร์ชั้นใน โดยเฉพาะในอาณาบริเวณระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองคูเมืองเดิม ฉะนั้น เมื่อสิ้นสุดแผนการระยะสั้นนี้ ในปีพุทธศักราช 2525 “หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์” ก็จะทรงความงามอันล้ำค่าเฉกเช่นในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525
กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 36-38