พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังเจ้านายและสร้างบ้านเรือนให้เสนาบดีผู้ใหญ่รอบพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะบริเวณนอกกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านใต้ ไปจนจรดเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่นั้น ได้พระราชทานให้เสนาบดีสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และเพื่อให้ช่วยดูแลระวังรักษาพระบรมมหาราชวังด้านหลัง ส่วนบ้านเรือนของข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎรจะตั้งอยู่ถัดออกมาเป็นชั้น ๆ บ้างก็รวมกันตั้งอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ตามตำบลต่าง ๆ จนนับว่าสมบูรณ์มั่งคั่ง เมื่อเสนาบดีชุดเก่าล่วงลับไปแล้ว ผู้เป็นเสนาบดีใหม่ก็ตั้งบ้านเรือนห่างไกลออกไปจากพระบรมมหาราชวัง บ้านของข้าราชการชั้นผู้น้อยและราษฎรก็ติดตามออกไปอยู่ด้วย พระนครก็ขยายตัวออกไปโดยลำดับ
นอกจากนั้น บริเวณภายนอกกำแพงพระบรมมหาราชวังยังมีสถานที่ราชการต่างๆ นอกเหนือจากที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังตั้งอยู่ด้วย เช่น โรงอู่หลวง อยู่ริมน้ำระหว่างคลองมอญกับวัดระฆังโฆสิตาราม ฉางข้าวเปลือก อยู่บริเวณริมถนนหน้าวัดมหาธาตุฯ ศาลหลวง อยู่ใกล้กับศาลหลักเมือง บริเวณถนนสนามไชยไปจนถึงคลองคูเมืองเดิม มีวังเจ้านาย 6 วัง โดยอยู่ฟากข้างเหนือของถนน 3 วัง ฟากข้างใต้ของถนน 3 วัง โรงม้าหลวงอยู่ริมถนนสนามไชยเรียงรายไปจนถึงหัวถนนโรงม้า ทางด้านใต้ของถนนโรงม้าเป็นสวน ที่เรียกว่า สวนตึกดิน เพราะมีตึกดินซึ่งมีคลังดินดำตั้งอยู่ และบริเวณตรงข้ามกับวัดเชตุพนฯ เป็นที่ตั้งของกรมพระนครบาลและคุกของกรมพระนครบาล ตอนหน้าคุกเรียกกันว่า หับเผย มีตลาดขายของสดที่หน้าหับเผย และข้างคุกมีหอกลองสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีกลองขนาดใหญ่สำหรับตีเมื่อเกิดศึกสงคราม เพลิงไหม้ และตีบอกเวลา นอกจากนี้ มีโรงช้างปลูกเรียงรายอยู่
สำหรับบริเวณภายนอกกำแพงพระนคร ขณะนั้นยังมีสภาพเป็นชนบทที่เปล่าเปลี่ยวรกร้างและเป็นท้องทุ่ง เช่น บริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระที่นั่งอนันตสมาคม สนามเสือป่า และพระราชวังดุสิตในปัจจุบันนั้นเดิมเคยเป็นดงตาล และท้องทุ่ง ที่เรียกว่า ทุ่งส้มป่อย มีคนอาศัยอยู่น้อย ส่วนใหญ่เป็นท้องไร่ ท้องนา สำหรับทำนาปลูกข้าว นอกจากนั้น แม้แต่ภายในกำแพงพระนครบางแห่งยังเป็นที่เปลี่ยวเต็มไปด้วยต้นไม้และวัชพืช บางแห่งยังเป็นเรือกสวนไร่นา ราษฎรทั่วไปพักอาศัยอยู่ตามริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ โดยการปลูกเรือนแพจอดอยู่ตามริมคลองและริมแม่น้ำ ทั้งในและนอกพระนคร เพราะนอกจากสะดวกในการคมนาคมแล้ว ยังสะดวกในการใช้อุปโภคบริโภค
ในระยะหลังปีพุทธศักราช 2329 เมื่อพม่าพ่ายแพ้ไทยในการรบที่ท่าดินแดง และสามสบ พม่าจึงไม่กล้ามารุกรานไทยอีก บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข ทำให้เป็นที่จูงใจราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในพระนครเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ทางการมีนโยบายที่จะให้พระนครมีพลเมืองหนาแน่นกว่าแต่ก่อน จึงได้ต้อนรับชาวต่างประเทศที่เข้ามาขออยู่อาศัยด้วยอัธยาศัยไมตรีเป็นอย่างดี อีกทั้งได้กวาดต้อนเชลยเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งนิคมชนต่างด้าวขึ้น ได้แก่ บ้านเขมร อยู่ริมคลองรอบกรุงเยื้องปากคลองหลอด บ้านชาวเหนือ (บ้านหล่อหรือบ้านช่างหล่อ) อยู่ข้างหลังวังหลัง บ้านญวน บางโพ และบ้านทวาย ซึ่งอยู่บริเวณวัดคอกกระบือ (วัดยานนาวาในปัจจุบัน) นอกจากนั้นยังมีสะพานข้ามคลองคูเมืองสะพานหนึ่งชื่อว่า สะพานมอญ ซึ่งเข้าใจว่าคงมีพวกมอญตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนั้นบริเวณหน้าวัดชนะสงคราม ยังมีนิคมชาวมลายู ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกวาดต้อนเข้ามาในปีพุทธศักราช 2329 เป็นเชลยของวังหน้า และที่ริมคลองมหานาคมีนิคมชาวมลายูที่เป็นเชลยของวังหลวง
สำหรับการคมนาคมในสมัยนั้นอาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะคลองหลอด 2 คลองที่ขุดขึ้น จะแบ่งบริเวณระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชบริพารและราษฎรสามัญ ออกเป็น 3 ส่วนเกือบเท่า ๆ กัน และในแต่ละส่วนจึงมีน้ำล้อมรอบ ประกอบกับในเวลานั้นมีประชาชนอาศัยอยู่ในพระนครเป็นจำนวนน้อย จึงสามารถเลือกตั้งบ้านเรือนตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลองที่ขุดขึ้นใหม่ อันเป็นเส้นทางคมนาคมเดินทางไปมาค้าขายติดต่อกันได้โดยตลอด ส่วนชานพระนครมีคลองมหานาคที่ช่วยให้ประชาชนเดินทางเข้ามาพระนครสะดวกขึ้น สำหรับการคมนาคมทางบก ส่วนใหญ่ใช้ตรอกเป็นทางเดินเช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบุรี ต่อมามีการขยายตรอกออกเป็นถนนบ้าง มีการตัดถนนใหม่บ้าง ถนนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทางเดินแคบ ๆ เป็นถนนดินหรือไม่ก็ปูด้วยอิฐเรียงตะแคง จะมีถนนที่ขนาดใหญ่กว่าถนนอื่น ๆ คือ ถนนรอบพระบรมมหาราชวัง แต่ก็ปูด้วยอิฐเหมือนกับถนนสายอื่น ๆ เช่นกัน ถนนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มี 9 สาย คือ
ถนนหน้าจักรวรรดิวังหลวง (ถนนสนามไชยในปัจจุบัน) ตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกรถึงถนนมหาราช
ถนนหน้าจักรวรรดิวังหน้า ต่อจากถนนสนามไชยตรงป้อมเผด็จดัสกรถึงเลี้ยวข้ามคลองคูเมืองเดิม
ถนนเสาชิงช้า (ถนนบำรุงเมืองตอนในกำแพงเมืองในปัจจุบัน) ตั้งแต่ถนนสนามไชยถึงประตูสำราญราษฎร์)
ถนนท่าช้างวังหลวง (ถนนหน้าพระลานในปัจจุบัน) ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าพระ) ถึงถนนสนามไชย
ถนนพระจันทร์ ตั้งแต่ถนนหน้าพระธาตุถึงถนนมหาราช
ถนนหน้าวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ถนนท่าช้างวังหลวงถึงถนนมหาราช
ถนนหน้าโรงไหม ตั้งแต่ริมคลองคูเมืองด้านเหนือ (คลองโรงไหม) ถึงถนนหน้าจักรวรรดิวังหน้า
ถนนท่าขุนนาง ตั้งแต่ถนนมหาราชถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
ถนนสามเพ็ง ตั้งแต่ถนนจักรเพชร ถึงถนนโยธา ตำบลตลาดน้อย
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองซึ่งทำอย่างง่าย ๆ โดยใช้ไม้กระดานแผ่นเดียวทอดข้ามคลอง และสะพานช้าง ซึ่งสร้างอย่างพิถีพิถันเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักล้อเลื่อนและช้างได้ ที่ฐานสะพานก่อด้วยอิฐและไม้สะพานเป็นไม้เนื้อแข็งที่หนามาก สะพานที่ใช้ข้ามคลองคูเมืองเดิมมีสะพานช้าง 3 สะพาน คือ สะพานที่ 1 อยู่ที่ปากคลองสำหรับกระบวนแห่ของวังหน้าเดินข้ามคลอง สะพานที่ 2 เรียกว่า สะพานช้างโรงสี สำหรับกระบวนแห่ข้ามไปยังเสาชิงช้า และสะพานที่ 3 เรียกว่า สะพานช้างบ้านหม้อ สำหรับเดินข้ามจากหน้าวัดพระเชตุพน ไปยังบ้านหม้อและสามเพ็ง และสร้างท่าสำหรับช้างข้ามคลองรอบกรุงตรงสนามกระบืออีกแห่งหนึ่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้ แม้จะมีอาณาเขตคลุมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดุจเมื่อครั้งกรุงธนบุรี แต่ความเจริญเติบโตของพระนครต่อมานั้นมุ่งอยู่บริเวณฟากตะวันออก ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบกรุงเป็นแนวคูเมืองใหม่ อาณาเขตเฉพาะตัว พระนครฟากตะวันออกจึงขยายจากเนื้อที่ 1,029 ไร่ในเขตคลองคูเมืองเดิม ออกไปจนถึงคลองรอบกรุง เป็นเนื้อที่ 2,589 ไร่
สำหรับฝั่งธนบุรี ยังคงสภาพเรือกสวนไร่นา อันเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของราษฎรส่วนใหญ่อยู่ดุจครั้งกรุงธนบุรี ทั้งมีบ้านขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งยังคงตั้งรกรากอยู่ที่นั้น พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโบราณซึ่งมีมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาให้งดงามบริบูรณ์ดังเดิม อาทิ วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม ในปัจจุบัน) วัดทอง (วัดสุวรรณาราม ในปัจจุบัน) วัดใหม่เทพนิมิต เป็นต้น
รัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปรับปรุงบริเวณพระบรมมหาราชวังใหม่ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในรัชกาลของพระองค์นี้มีพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าลูกยาเธอเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ต้องสร้างตำหนักให้ประทับทุกพระองค์ นอกพระบรมมหาราชวังด้านใต้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเสนาบดีผู้ใหญ่ บัดนี้ ท่านเหล่านั้นต่างก็ล่วงลับไปหมดแล้ว และเสนบดีที่เป็นขึ้นใหม่ก็มิได้อยู่ในบ้านเสนาบดีเก่า แต่มีบ้านเรือนของตนห่างพระบรมมหาราชวังออกไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาที่ดินแห่งใหม่พระราชทานให้บุตรหลานและเชื้อสายของเสนาบดีเก่าเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ดินท้ายวังที่ขอเวนคืนด้วยทุกราย แล้วทรงขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไป โดยสร้างกำแพงเสริมต่อจากกำแพงพระบรมมหาราชวังเดิม เนื้อที่พระบรมมหาราชวังตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2361 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 152 ไร่ 2 งาน มีกำแพงด้านเหนือยาว 510 เมตร กำแพงด้านใต้ยาว 360 เมตร กำแพงด้านตะวันออกยาว 510 เมตร และกำแพงด้านตะวันตกยาว 630 เมตร
นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนประชิดกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านใต้ เป็นถนนตัดกลางระหว่างเขตพระบรมมหาราชวังกับเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามขึ้นสายหนึ่ง เพื่อแยกอาณาเขตของวัดและพระบรมมหาราชวังไว้คนละส่วน มิให้เป็นที่อุปจารกับเขตวัดเหมือนเช่นพระราชวังในสมัยกรุงธนบุรี ถนนสายนี้เรียกกันว่า ถนนท้ายวัง ดังนั้น กรุงรัตนโกสินทร์จึงมีถนนกว้างใหญ่เพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง ทำให้กระบวนแห่สามารถเคลื่อนที่ไปตามถนนได้รอบพระบรมมหาราชวัง
 
สำหรับพระราชมณเฑียรสถานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ที่สำคัญมีดังนี้
 
พระราชมณเฑียรในสวนขวา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองจัดสร้างสวนข้างหมู่พระมหามณเฑียรด้านตะวันออกขึ้นใหม่จากวนเดิมสมัยรัชกาลที่ 1 มีการขุดสระ ทำภูเขาน้อย ๆ สร้างพระราชมณเฑียรและสร้างเก๋งขึ้นเป็นอันมากโดยมีทั้งที่เป็นึกแบบฝรั่งและเก๋งแบบจีน และมีการตกแต่งอย่างงดงาม
 
พระที่นั่งสนามจันทร์ เป็นพระที่นั่งไม้องค์เล็กตั้งอยู่ที่พระลานข้างมุขพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงมีส่วนร่วมในการสร้างและการตกแต่งพระที่นั่งองค์นี้ด้วยพระองค์เองตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 1 พระที่นั่งองค์นี้นอกจากจะเสด็จประทับทรงพระสำราญอยู่เสมอแล้ว ยังทรงใช้เสด็จออกขุนนางแทนการเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในบางวันด้วย
 
เก๋งโรงละครหรือเก๋งโรงมหาสภา ตั้งอยู่หน้าพระราชมณเฑียรในสวนขวาทางใต้ ทำเป็นเก๋งจีน ใช้เป็นโรงละคร
 
สำหรับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นภายในวัด ให้เป็นศรีสง่าแก่พระนครฝั่งตะวันตก แต่พอเริ่มกะที่ขุดดินวางรากก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับเป็นพระราชภาระสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบรมราชชนก สร้างต่อจนแล้วเสร็จบริบูรณ์
 
อนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิกหล้านภาลัยนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งหนึ่ง คือทางด้านใต้กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเมืองพระประแดง เมืองด่านสำคัญสำหรับรักษาปากอ่าวครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ครั้นต่อมาแผ่นดินงอกออกไป เมืองพระประแดงจึงอยู่ลึกจากทะเล จนต้องย้ายเมืองออกไปตั้งที่บางเจ้าพระยา เรียกชื่อใหม่ว่า เมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริว่า ควรจะมีเมืองด่านที่มีป้อมปราการมั่นคงสำหรับป้องกันพระนครด้านใต้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ปากลัด อันเคยเป็นที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิม โดยตัดท้องที่แขวงกรุงรัตนโกสินทร์ และแขวงเมืองสมุทรปราการรวมกัน ตั้งเป็นเมืองนครเขื่อนขันธ์ สร้างป้อมขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ทำลูกทุ่นสายโซ่ขึงขวางแม่น้ำ ป้อมแต่ละฝั่งชักกำแพงถึงกันตลอด และตั้งยุ้งฉางตึกดินไว้เครื่องคาสตราวุธพร้อมทุกประการ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครอบครัวมอญเมืองปทุมธานีพวกพระยาเจ่ง ไปอยู่ ณ เมืองนครขันธ์ การสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์นี้ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์แคบเข้ามากว่าเดิม ด้วยท้องที่เขตพระโขนง ซึ่งเดิมขึ้นอยู่ในพระนคร เปลี่ยนเไปขึ้นกับเมืองนครเขื่อนขันธ์์
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายต่อจากพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในการสร้างและตกแต่งพระนครให้งดงาม ทรงบูรณะและปฏิสังขรณ์พระบรมมหาราชวังและวัดวาอารามเสียใหม่ ตลอดจนมีการสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
สำหรับพระบรมมหาราชวังและบริเวณใกล้เคียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปรับปรุงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก โดยทำโรงปืนจ่ารงรางเกวียนรอบพระระเบียบวัดพระศรีรัตนศาสดารามและแถวกำแพงด้านตะวันออกต่อเนื่องกันไป พระบรมมหาราชวังชั้นกลางทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยซ่อมแซมเครื่องบน เปลี่ยนหลังคาซึ่งเดิมดาดด้วยดีบุกเป็นกระเบื้องเคลือบสี แล้วปิดทองใหม่ รื้อเครื่องบนพระที่นั่งพิมานรัตยาซ่อมแซมใหม่ และปฏิสังขรณ์พระที่นั่งพลับพลาสูงหน้าจักรวรรดิทำเป็นผนังก่ออิฐหลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับกระจก ช่อฟ้าใบระกาแก้ว และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์) ส่วนหอกลองนั้นเดิมเป็นเครื่องไม้ ยอดมณฑป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นเครื่องก่อชั้นล่าง แต่ชั้นกลางและชั้นบนนั้นเป็นฝาขัดแตะถือปูน และเปลี่ยนยอดมณฑปเป็นยอดเกี้ยว นอกจากนั้นประตูกำแพงพระบรมมหาราชวัง และประตูกำแพงพระนคร ซึ่งแต่เดิมทำเป็นประตูยอดมณฑปเครื่องไม้ทาดินแดง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อใหม่เป็นประตูหอรบ
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธาให้สร้างและบูรณะวัดต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามให้สูงสงว่ายิ่งกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมมีความสูงเพียง 8 วาเท่านั้น แล้วให้ก่อหุ้มใหม่ให้สูง 33 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว และให้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่ากับพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิงที่กรุงศรีอยุธยา โดยถ่ายแบบมาทำและประดิษฐานไว้ในวัดกัลยาณมิตร นอกจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองสร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่วัดสระเกศริมคลองมหานาค ให้เหมือนกับพระเจดีย์วัดภูเขาทองซึ่งอยู่ริมคลองมหานาคในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระราชทานชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทอง นอกจากนี้เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ต่าง ๆ สำเร็จ ก็จะทรงตั้งชื่อหรือทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เหมือนกับวัดในกรุงศรีอยุธยา อาทิ วัดบางว้าใหญ่ เปลี่ยนเป็น วัดระฆังโฆสิตาราม วัดตองปุ เปลี่ยนเป็น วัดชนะสงคราม วัดเลียบ เปลี่ยนเป็น วัดราชบุรณะ เป็นต้น ทั้งยังได้ทรงชักชวนขุนนางผู้ใหญ่ที่มีกำลังไพร่พลและทรัพย์สินมากให้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นตามแต่จะทำได้ บรรดาขุนนางผู้ใหญ่จึงโดยเสด็จพระราชนิยม สร้างวัดขึ้นในเขตที่ดินของตน ทำนองจะให้เป็นวัดประจำตระกูลเหมือนเช่นขุนนางครั้งกรุงศรีอยุธยานิยมสร้างกัน หรือไม่ก็ปฏิสังขรณ์วัดโบราณที่มีมาก่อนแล้วบ้าง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างวัดประยุรวงศาวาส สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สร้างวัดพิชัยญาติการาม ท่านผู้หญิงน้อยในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สร้างวัดอนงคาราม เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต ต้นสกุล กัลยาณมิตร) สร้างวัดกัลยาณมิตร และพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ปฏิสังขรณ์วัดทองนพคุณ เป็นต้น วัดเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นอย่างใหญ่โต และปูชนียวัตถุสถานภายในวัดสร้างด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม
กรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งธนบุรีนั้นมีวัดโบราณ ซึ่งสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นจำนวนมาก และมีหลายวัดที่มีขนาดใหญ่ มีสิ่งก่อสร้างอันเป็นแบบอย่างทางศิลปกรรมที่สำคัญ อาทิ วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐานในปัจจุบัน) วัดทอง (วัดกาญจสิงหาสน์ในปัจจุบัน) วัดแก้ว วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์ ในปัจจุบัน) วัดกำแพง ในคลองชักพระ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ให้งามบริบูรณ์ดังเดิมทั้งสิ้น
ด้านการคมนาคมระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์กับหัวเมืองใกล้เคียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นแม่กองอำนวยการขุดคลอง ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนากเป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา สิ้นค่าใช้จ่าย 1,206 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง ขุดเสร็จในปีชวด โทศก จุลศักราช 1203 ตรงกับพุทธศักราช 2384 คลองบางขนากเป็นคลองทะลุออกแม่น้ำบางปะกง เมื่อขุดคลองบางขนากมาบรรจบกับคลองพระโขนง จึงช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าลำเลียงสินค้าจากเมืองฉะเชิงเทรามาสู่พระนคร และลำเลียงสินค้าจากพระนครไปยังเมืองฉะเชิงเทราได้สะดวกทอดเดียว โดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าลำเลียงขึ้นทางบกเป็นสองทอด นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองด่านจากวัดปากน้ำริมคลองบางกอกใหญ่ไปจนถึงคลองบางขุนเทียนยาว 78 เส้น 18 วา ขุดลอกคลองบางขุนเทียนไปจนถึงวัดกก วัดเลา เป็นระยะทาง 100 เส้น รวมเป็นระยะคลองยาว 178 เส้น 18 วา รวมทั้งขุดลอกคลองสุนัชหอนซึ่งเป็นคลองเชื่อมแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองที่ตื้นเขินให้ลึกเหมือนแต่ก่อนด้วย
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีประชาชนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระนครออกไปทางตะวันออก จนถึงทุ่งวัวลำพอง ทุ่งส้มป่อย และทุ่งสามเสน
ในปีพุทธศักราช 2394 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองอำนวยการขุดคูพระนครขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ปากคลองด้านเหนือเริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้างวัดเทวราชกุญชรมาออกแม่น้ำข้างทิศใต้ริมวัดแก้วฟ้า เป็นแนวขนานกับคลองรอบกรุงซึ่งขุดไว้ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คลองนี้ขุดแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2395 คลองกว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก ยาว 137 เส้น 10 วา สิ้นค่าใช้จ่าย 391 ชั่ง 13 ตำลึง 1 บาท 1 เฟื้อง แล้วพระราชทานนามว่า คลองผดุงกรุงเกษม ทำให้บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งแต่ก่อนเป็นบริเวณที่อยู่นอกเมืองและเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนสามัญ ย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระนครน
คูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่นี้ไม่มีการก่อกำแพงเมืองเลียบแนวคูเมืองเหมือนดังที่ทำกันมาแต่ก่อน เพียงแต่มีการสร้างป้อมเรียงรายไปตามริมคลองสำหรับป้องกันข้าศึก เมื่อมีเหตุการณ์คับขันก็จะจัดกำลังต้านทานโดยชักปีกการะหว่างป้อมให้ถึงกันตลอด และได้สร้างข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย จำนวน 8 ป้อม คือ
ป้อมปัจจามิตร อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกริมปากคลองสาน ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้
ป้อมป้องปิดปัจจนึก อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกริมปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต ้
ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ อยู่ใกล้กับป้อมป้องปิดปัจจนึก เป็นป้อมเล็ก ๆ สำหรับยิงปืนคำนับแขกเมืองตามธรรมเนียมการยิงสลุต
ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่บริเวณตลาดหัวลำโพง
ป้อมปราบศัตรูพ่ายอยู่ใกล้สะพานนพวงศ ์
ป้อมทำลายปรปักษ์ อยู่บริเวณมุมถนนหลานหลวง เชิงสะพานจตุรภัตร์รังสฤษดิ์์
ป้อมหักกำลังดัษกร อยู่บริเวณถนนราชดำเนินนอก
ป้อมมหานครรักษาอยู่บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างเหนือ ใกล้วัดนรนาถสุนทริการาม
หลังจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษมและสร้างป้อมแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2397 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีมหสพฉลองตลอดคลอง การขุดคลองผดุงกรุงเกษมนี้ทำให้อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์เฉพาะตัวพระนครมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 เท่าตัว หรือประมาณ 5,552 ไร่ และยังช่วยให้ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนและทำสวนอยู่ในบริเวณนี้ได้ชักน้ำจากแม่น้ำลำคลองมาหล่อเลี้ยงพื้นที่สองฟากคลองทำให้เป็นที่ที่เหมาะแก่การทำสวนยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีเนื้อที่สวนในกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่มขึ้น ส่วนเนื้อที่ทุ่งนาลดน้อยลง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศใหม่ เป็นเมืองเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและค้าขายได้ รัฐบาลมิตรประเทศที่ทำสัญญทางพระราชไมตรีและทางการค้ากับไทยจึงส่งกงสุลเข้ามาพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศตน รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่คนในบังคับของตนด้วย พวกกงสุลของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้จะได้รับพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับเป็นที่ตั้งของสถานกงสุล ตั้งแต่ใต้ปากคลองผดุงกรุงเกษมลงไป โดยเริ่มจากแบงก์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้อยู่ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษม ถัดไปเป็นสถานกงสุลเยอรมัน สถานกงสุลโปรตุเกส สถานกงสุลอังกฤษ สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา สถานกงสุลฝรั่งเศส ดังนั้น ย่านใต้คลองผดุงกรุงเกษมจึงเป็นย่านที่ชาวต่างประเทศชอบตั้งบ้านเรือนและร้านโรงมากกว่าที่อื่น ๆ เพราะอยู่ใกล้สถานกงสุลอันเป็นที่พึ่งของเขาได้
การที่มีกงสุลต่างประเทศตั้งในประเทศไทย ทำให้เกิดผลดีบางประการคือ มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ทางราชการทำการปรับปรุงพระนครให้เจริญขึ้น เช่น มีการสร้างถนนเพิ่มเติมเพื่อสะดวกในการคมนาคม และการขนส่งสินค้า ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนสีลม ถนนตรง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร เป็นต้น ความนิยมในรูปแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างแบบยุโรป ได้มีปรากฏทั่วไปในอาคารที่สร้างขึ้นในรัชสมัยนี้ ทั้งในราชสำนัก วัด และอาคารร้านค้าของประชาชน
ในปีพุทธสักราช 2400 กงสุลอังกฤษ กงสุลสหรัฐอเมริกา และกงสุลฝรั่งเศส ได้เข้าชื่อรวมกับพ่อค้าชาวต่างประเทศ ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อกรมเจ้าท่าว่า เรือสินค้าจะขึ้นมาค้าขายในพระนครนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำน้ำจะเชี่ยวแรงมาก กว่าจะขึ้นมาถึงพระนครได้ต้องใช้เวลาหลายวัน จะขอลงไปตั้งห้างซื้อขายที่ใต้ปากคลองพระโขนงตลอดจนถึงบางนา โดยขอให้มีการขุดคลองลัดตั้งแต่บางนาตลอดจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาเสนาบดี เสนบดีต่างเห็นชอบและกราบบังคมทูลว่า ถ้าชาวยุโรปลงไปตั้งห้านร้านที่บางนาได้จะมีคุณอย่างหนึ่ง ความยุ่งยากต่างๆ จะน้องลงสมควรที่จะให้ขุดคลองเพื่อเป็นทางลัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาบดี ที่พระคลังอำนวยการขุดคลอง ตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบตัดทุ่งวัวลำพองริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งนอกลงไปถึงคลองพระโขนงและตัด (แก้) คลองพระโขนงออกไปทะลุแม่น้ำใหญ่ เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก ยาว 207 เส้น 2 วา 3 ศอก และเอามูลดินขึ้นถมเป็นถนนฝั่งเหนือขนานไปกับลำคลอง สิ้นเงินค่าใช้จ่าย 16,633 บาท พระราชทานชื่อ คลองขุดใหม่นี้ว่า คลองถนนตรง ครั้นขุดคลองเสร็จเรียบร้อยแล้วปรากฏว่า ชาวต่างประเทศเหล่านั้นมิได้ย้ายห้างร้านไปอยู่ที่บางนาแต่อย่างใด แต่คลองนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางระหว่างพระนครกับหัวเมืองใกล้เคียงทางด้านตะวันออก ประชาชนส่วนใหญ่เรียกคลองสายนี้ว่า คลองวัวลำพอง และเรียกถนนสายใหม่นี้ว่า ถนนวัวลำพอง ตามชื่อทุ่งนาที่ถนนและคลองตัดผ่าน เมื่อเกิดถนนขึ้นทางด้านใต้ของคลองผดุงกรุงเกษม ในไม่ช้าก็มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมขึ้นในบริเวณนั้นเพื่อให้ประชาชนข้ามไปมาได้สะดวก สะพานนี้ชื่อ สะพานวัวลำพอง ชื่อวัวลำพองนี้ ภายหลังเปลี่ยนเรียกเป็น หัวลำโพง
ในเวลาต่อมา กงสุลของประเทศต่างๆ ได้เข้าชื่อกันอีกครั้งหนึ่ง ขอร้องให้ทางราชการสร้างถนนยาวสำหรับให้พวกตนขี่รถม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศโดยอ้างว่า เข้ามาอยู่ที่พระนครนี้ ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยวทำให้เกิดเจ็บไข้เนือง ๆ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า พวกชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์มากขึ้นทุกปี ประเทศบ้านเมืองของเขามีถนนหนทางที่สะดวกราบรื่นไปทุกบ้านทุกเมือง ผิดกับบ้านเมืองของเราที่มีแต่รกเรี้ยว ถนนหนทางเป็นตรอกเล็กซอยน้อย ถนนที่ใหญ่หน่อยก็สกปรก ไม่เป็นที่เจริญตา ทำให้ขายหน้าชาวต่างประเทศ ในปีพุทธศักราช 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงานสร้างถนนเชื่อมโยงเขตกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามผ่านสามเพ็ง ย่านการค้าและที่อยู่ของชาวจีนกับย่านการค้าและที่อยู่ของชาวตะวันออก ซึ่งอยู่ชานพระนครด้านใต้ บริเวณบางรักถึงบางคอแหลม (ถนนตก) พระราชทานชื่อว่า ถนนเจริญกรุง ประชาชนทั่วไปและชาวต่างประเทศ เรียกว่า ถนนใหม่ (New Road)
ถนนเจริญกรุงแบ่งเป็น 2 ตอนคือ ถนนเจริญกรุงตอนใน ตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจนถึงสะพานเหล็ก (สะพานดำรงสถิต) กว้าง 4 วา หรือ หรือ 8 เมตร ถนนเจริญกรุงตอนนอกเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุง จนถึงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลดาวคนอง กว้าง 5 วา 2 ศอก หรือ 11 เมตร เป็นระยะทาง 25 เส้น 10 วา 3 ศอก สิ้นค่าก่อสร้าง 19,700 บาท
ในการสร้างถนนเจริญกรุงนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเอาวิธีการขยายความเจริญทางการค้าขายมาเผยแพร่ด้วยโดยทางสร้างตึกแถวชั้นเดียวตามสองฟากถนนเป็นระยะ ๆ พระราชทานแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาเพื่อเก็บผลประโยชน์ ตึกแถวเหล่านี้ส่วนมากเป็นร้านค้าของคนจีนและห้างฝรั่ง ทำให้ถนนมีบทบาทและความสำคัญในการขยายตัวทางการค้ามากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุที่ถนนเจริญกรุง เป็นถนนที่กว้างมากในสมัยนั้น จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนบางกลุ่มว่าทำการลงทุนเกินความจำเป็น ความทราบถึงพระกรรณจึงทรงมีพระราชปรารภ ดังปรากฏในหนังสือทำเนียบนามภาค 4 เรื่อง ถนนในจังหวัดพระนครและธนบุรีว่า
“…เสมือนหนึ่งสนนเจริญกรุง ฤาจะเอาตามปากชาวเมืองว่า สนนใหม่ชาวต่างประเทศเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถให้สบาย ให้ถูกลมเย็น เส้นสายเหยียดยืดสบายดี ผู้ครองแผ่นดิน ฝ่ายไทยเห็นชอบด้วยจึงได้ยอมทำตามขึ้น ครั้นสร้างขึ้นแล้ว คนใช้ม้าทั้งไทยทั้งชาวนอกประเทศกี่คน คนใช้ม้าทั้งชาวไทยทั้งชาวนอกประเทศกี่คน ใช้รถอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่ได้เต็มสนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนสนนอีกข้างหนึ่งก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่มีใครเดินม้า เดินรถ เดินเท้า ผู้ครองแผ่นดินฝ่าย ไทยทำสนนกว้าง เสียค่าจ้างถมดิน ถมทรายเสียเปล่าไม่ใช้ ฤา ถ้าจะทำแต่แคบ ๆ พอคนเดินก็จะดี แต่ซึ่งทำใหญ่ไว้นี้ก็เผื่อไว้ว่า เมื่อนานไปภายน่าบ้านเมืองสมบูรณ์ มีผู้ค้นมากขึ้น รถแลม้าแลคนจะได้คล่องสดวกจึ่งทำให้ใหญ่ไว้…” จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกล เพราะในปัจจุบันนี้ถนนเจริญกรุงได้คับแคบลงเสียแล้ว ว่า
นอกจากนั้น ยังทรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปรับปรุงถนน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สะพานช้างโรงสี อันเป็นถนนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกให้เป็นถนนทันสมัย มีท่อระบายน้ำและไม่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกเหมือนในสมัยก่อน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเดินทางระหว่างเขตพระบรมมหาราชวังกับตลาดเสาชิงช้าซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าในสมัยนั้น ถนนสายนี้ยาว 29 เส้นเศษ พระราชทานชื่อใหม่ว่า ถนนบำรุงเมืองและให้สร้างถนนอีกสายหนึ่ง คือถนนเฟื่องนคร ยาวประมาณ 50 เส้น กว้าง 10 ศอก โดยเริ่มจากกำแพงเมืองด้านใต้ (ใต้ปากคลองตลาด) ผ่านบ้านหม้อ บ้านญวณ ตัดกับถนนเจริญกรุงเป็นสี่แพร่ง ที่เรียกว่า สี่กั๊กพระยาศรี และตัดกับถนนบำรุงเมืองเป็นสี่แพร่งที่เรียกว่า สี่กั๊กเสาชิงช้า ผ่านวัดมหรรณพาราม โรงเลี้ยงวัว สวนหลวงไปจดกำแพงเมืองด้านเหนือที่วัดบวรนิเวศวิหาร ถนนทั้ง 2 สายนี้เริ่มทำในปีพุทธศักราช 2406 ถนนบำรุงเมืองเมื่อแรกสร้างนั้นยังแคบอยู่และไม่ค่อยตรง เมื่อสร้างเสร็จเจ้าของที่ดินริมถนนก็สร้างตึกแถวบ้าง ห้องแถวบ้าง และร้านโรงบ้าง สำหรับทำการค้าและให้เช่าเพื่อการค้าเพราะเป็นถนนสายสำคัญที่มีคนสัญจรไปมามากมาย
กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเจริญกว่าในสมัยก่อน ๆ มาก เพราะมีถนนสายใหม่ สะพาน ตึกแถว เรือกลไฟ โรงสี อู่ต่อเรือ และของสมัยใหม่ใข้สอยมากกว่าสมัยก่อน ๆ ย่านการค้า ซึ่งแต่ก่อนอยู่ตามริมแม่น้ำและลำคลอง ได้เริ่มก่อตัวขึ้นที่ริมถนนประปราย เพราะมีคนไปมาตามท้องถนนมากขึ้น การตั้งตลาดริมถนนจึงเริ่มแพร่หลายขึ้นในสมัยนี้ ส่วนมากเป็นตลาดริมถนนเจริญกรุง เช่น ตลาดบ้านทะวาย ตลาดบางรัก ตลาดเก่า ตลาดบ้านหม้อ และตลาดหน้าคุก
นอกจากการขยายเขตพระนครและปรับปรุงทางคมนาคมอาคารร้านค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังใหม่สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานนอกเขตพระนคร โดยทรงสร้างในท้องที่นาหลวงริมคลองบางกะปิ มีอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โต ทำเป็นสระบัวและเกาะน้อยใหญ่ สำหรับให้พวกข้าราชบริพารฝ่ายในพายเรือเล่น อาคารภายในพระราชวังประกอบด้วยพระที่นั่งที่ประทับแรม 1 องค์ พลับพลา โรงละคร และตำหนักสำหรับเจ้าจอม พระราชทานนามว่า วังสวนสระปทุมวัน ประชาชนส่วนใหญ่เรียกสั้น ๆ ว่า วังสระปทุม นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์นิกายธรรมยุติขึ้นติดกับพระราชวัง พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม การสร้างพระราชวังและวัดที่ริมคลองบางกะปินี้เท่ากับเป็นการชักนำประชาชนในเขตพระนครให้มาตั้งบ้านเรือนทางด้านตะวันออกของพระนครให้มากขึ้น นับว่าเป็นการทะนุบำรุงพระนครให้เจริญเติบโตและขยายกว้างขวางออกไป สำหรับภายในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มเติม คือ
พระที่นั่งมหิศรปราสาท สร้างขึ้นที่แนวกำแพงกั้นเขตระหว่างสวนศิวาลัยกับเขตพระราชฐานชั้นใน ตรงกับพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานด้านตะวันตก เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถมาประดิษฐานไว้
พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างขึ้นตรงแนวกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก เพื่อใช้เป็นพลับพลาสำหรับประทับพระราชยานรับส่งเสด็จฯ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราหรือกระบวนราบ ประทับพระราชยานอัญเชิญพระบรมอัฐิ และประทับพระเสลี่ยงส่งเสด็จพระบรมราชวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีโสกันต์พระราชทาน เป็นต้น
พระที่นั่งไชยชุมพล สร้างบนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกตรงกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยายืนชิงช้า ในการพระราชพิธีตรียัมปวาย
พระที่นั่งภูวดลทัศไนย คือหอนาฬิกา
พระที่นั่งอภิเนาวนิเวศน์ เป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่ ประกอบด้วย พระที่นั่งและหอต่าง ๆ คือ
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงเสด็จออกฝ่ายหน้า
พระที่นั่งบรมพิมาน เป็นพระมหามณเฑียรฝ่ายใน
พระที่นั่งนงคราญสโมสร เป็นท้องพระโรงฝ่ายใน
พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส เป็นพระพิมานฝ่ายใต้
พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ เป็นพระพิมานฝ่ายเหนือ
พระที่นั่งมูลมณเฑียร เป็นพระที่นั่งเดิมรื้อมาสร้างใหม่ (ต่อมารื้อไปสร้างไว้ที่วัดเขมาภิรตาราม)
หอเสถียรธรรมปริตร เป็นหอพระปริตร
หอราชฤทธิรุ่งโรจน์ เป็นหอพระแสงศาสตราคม
หอโภชนลีลาศ เป็นหอเลี้ยงแขกเมือง
พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ในพระราชธาน
พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ในพระราชฐาน
พระที่นั่งในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์นี้รื้อในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งราชฤดี สร้างทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ สร้างในเขตพระราชฐานชั้นในข้างประตูสนามราชกิจ
พระที่นั่งรอบสกุณวัน 4 องค์สร้างในบริเวณสนามด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันเป็นสนามหน้าพระที่นั่งจักรีองค์ตะวันออก
พระที่นั่งราชฤดี พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ และพระที่นั่งรอบสกุณวัน เหล่านี้รื้อในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธรัตนสถาน สร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน
หอแก้ว สร้างเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปแก้วผลึก เทพารักษ์สำหรับพระราชฐานชั้นในและเจว็ดมุก
หอศาสตราคม สร้างเป็นที่พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายทำพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์
นอกจากการสร้างพระราชมณเฑียรสถานในพระบรมมหาราชวังให้งดงามขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระราชดำริว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อถึงกาลอันควร พระองค์จะเสด็จออกไปประทับนอกพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังใหม่อีกแห่งหนึ่งขึ้นในสวนตรงข้ามกับกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก พระราชทานนามว่า วังสราญรมย์
สำหรับความเจริญของกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันตก ไม่สู้จะมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้งกรุงธนบุรีนัก ด้วยยังคงเป็นที่นาที่สวนไม้ผลอันมีชื่อ และมีย่านชุมชนอันแตกต่างกันไปตามอาชีพและเชื้อชาติอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ดังเดิม อาทิ บ้านบุ ริมคลองบางกอกใหญ่ เป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำเครื่องทองลงหิน ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของช่างไทยในการทำขันน้ำพานรอง ถาด เครื่องดนตรี เป็นต้น บ้านช่างหล่ออยู่ใต้พระราชวังหลังลงมา เป็นกลุ่มผู้ทำรูปหล่อสำริด โดยเฉพาะการหล่อพระมีชื่อมาจนปัจจุบัน บ้านขมิ้น ทำขมิ้นผลงสำหรับย้อมผ้าย้อมจีวร กุฎิเจริญพาศน์ และบ้านแขก เป็นที่อยู่ของชาวไทยอิสลาม กุฎิจีน (เป็นที่ตั้งของวัดกัลยาณมิตรในปัจจุบัน) เป็นที่อยู่ของพวกจีนและมีพระภิกษุจีนสร้างกุฎิพำนักอยู่ หมู่กุฎีเรียกว่า “เกียนอันเก๋ง” ยังมีปรากฏอยู่ทางด้านตะวันออกของวัดกัลยาณมิตร กุฎิฝรั่ง หรือโบสถ์ซางตาครู้ส เป็นย่านที่อยู่ของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากฝรั่งโปรตุเกส มีชื่อเสียงในการทำขนม ยังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สวนพลูอยู่ปลายคลองด่านต่อคลองบางหลวง เป็นหมู่บ้านทำสวนพลูทั้งขนัดสวน มีย่านที่ซื้อขายพลูอยู่ใกล้ตลาดริมคลองบางหลวง จึงเป็นที่มาของชื่อตลาดนั้นว่า ตลาดพลู ความเจริญเติบโตของกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันตก นอกจากการเพิ่มจำนวนประชากร และการตัดถนนหนทาง เช่น ฝั่งตะวันออกแล้ว สิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากนับแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มา
จะเห็นได้ว่า กรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความเจริญขึ้นอย่างเต็มที่ ความงดงามของประสาทราชวัง วัดวาอาราม ถนนคูคลองต่าง ๆ ล้วนแสดงถึงความสามารถอันเยี่ยมยอดของช่างศิลปกรรมไทยแขนงต่างๆ เป็นอย่างดี พระบรมมหาราชวังอันประกอบด้วย ปราสาทราชมณเฑียรยอดแหลมเสียดฟ้าปิดทองประดับกระจกเป็นประกายระยับเมื่อต้องแสงตะวัน ล้อมด้วยกำแพงและป้อมปราการสีขาว เป็นศูนย์กลางและจุดยอดของกรุงรัตนโกสินทร์ ถัดออกมาคือแนว 3 ชั้นของคลองคูเมือง ซึ่งขุดขึ้นแต่ครั้งกรุงธนบุรีเป็นชั้นที่หนึ่ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสนทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นชั้นที่สอง โดยมีกำแพงและป้อมรายรอบทั้งด้านริมแม่น้ำและลำคลอง กับครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เป็นชั้นที่สาม ซึ่งมีแต่เพียงป้อมรายเรียงเป็นระยะ จากนั้นจึงเป็นลำคลองและถนนที่ตัดพุ่งออกไปในทิศต่างๆ ประดุจรัศมี ท่ามกลางความเขียวชอุ่มของพืชพรรณไม่ไร่นาและเรือกสวน ที่โอบอยู่ด้านตะวันตกนั้นคือลำน้ำอันกว้างใหญ่ของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์จึงเปรียบประดุจอัญมณีที่มนุษย์ได้รังสรรค์ขึ้นอย่างมีศิลป และจัดวางไว้ในสภาพแวดล้อมอันงดงามของธรรมชาติ สมดังที่นายนิจ หิญชีระนันทน์ ได้กล่าวเปรียบไว้ว่า นี้คือ “หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์”
เมื่อสังฆราชปาเลอกัว (Monseigneur Pallegoix) เดินทางมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพุทธศักราช 2373 ได้พรรณาถึงลักษณะของกรุงรัตนโกสินทร์ในขณะนั้นไว้ในหนังสือ Description du Royaume Thai ou Siam ซึ่งเป็นภาพกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ก่อนที่จะย่างเข้าสู่ความเจริญอย่างสมัยใหม่ไว้ดังนี้
“กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ห่างจากทะเล 8 ลีก ตัวเมืองเป็นรูปเกาะเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ลีก ล้อมรอบด้วยปราการเชิงเทิน และแต่ละมุมเมืองมีหอคอยหรือป้อมค่าย กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มตลอดปี จึงงามเหมือนภาพวาด กลุ่มเรือใบ ประดับธงจอดเป็นทิวแถวตามสองฝั่งแม่น้ำ ยอดแหลมหุ้มทองของมณฑปและโครงสร้างอันสวยงามของพระปรางค์ที่มีการประดับอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสีลอยสูงเด่นอยู่ในอากาศ ยอดเจดีย์หุ้มหองประดับกระเบื้องหลากสี สะท้อนแสงเหมือนสีรุ้ง เบื้องหน้าของท่านจะมองเห็นร้านค้าบนเรือนแพจำนวนนับพันเรียงเป็นสองแถว ยาวตามริมฝั่งแม่น้ำ มีเรือสวยงามแล่นตัดข้ามฟากไปมา ตลอดความยาวของลำน้ำอันคดเคี้ยว ป้อมสีขาวคล้ายหิมะ ตัวเมืองซึ่งมีหอคอยแลประตูมากมาย ลำคลองที่ตัดผ่านไปรอบเมือง ยอดแหลมของปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังสามารถมองเห็นได้จากทั้งสี่ทิศ มีอาคารแบบจีน อินเดีย และยุโรป เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละชาติ เสียงดนตรี เสียงเพลงจากโรงละคร ความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติมองด้วยความชื่นชมและพิศวง ไม่มีรถสักคันเดียวในพระนคร ทุกคนใช้การสัญจรทางน้ำ แม่น้ำและลำคลองเป็นเหมือนถนนอันจอแจ มีเพียงตอนใจกลางเมืองและย่านตลาดเท่านั้นที่ท่านจะพบถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ๆ
บ้านในกรุงเทพฯ มี 3 ประเภท ประเภทแรกสร้างด้วยอิฐดูสวยงามสง่า ประเภทที่สองสร้างด้วยไม้ และประเภทที่สามเป็นบ้านคนจนทำด้วยไม่ไผ่ ฉะนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง และทำความเสียหายครั้งละ 400 - 500 หลัง แต่ทุกอย่างจะสามารถสร้างขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิมได้ภายใน 7 - 8 วัน ด้วยน้ำใจของญาติพี่น้องและมิตรสหายที่มาร่วมช่วยเหลือผู้ที่บ้านถูกไฟไหม้”
กรุงรัตนโกสินทร์เริ่มย่างเข้าสู่ความเจริญสมัยใหม่ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้น กรุงรัตนโกสินทร์ยังมีสวน มีป่า ที่รก ที่เปลี่ยวอยู่มาก พื้นที่ระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษมแม้จะอยู่ในใจกลางพระนครก็ยังเป็นวนเป็นป่าอยู่โดยทั่วไป พ้นแนวคลองผดุงกรุงเกษมออกไปทางตะวันออก เป็นบริเวณที่เป็นทุ่ง เป็นนา เป็นป่า เช่น ทุ่มส้มป่อย ทุ่งวัวลำพอง ทุ่งสามเสน ทุ่งพญาไท ทุ่งบางกระสัน (มักกะสัน) และทุ่งบางกะปิ ซึ่งไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่นอกจากริมฝั่งแม่น้ำและริมคลองซึ่งเป็นที่สวน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่มีคนหนาแน่น เพราะมีตลาดร้านค้าโรงขายอาหารและเครื่องใข้สอยต่าง ๆ ตำบลที่มีประชาชนหนาแน่นที่สุดภายในกำแพงเมืองนั้นอยู่ทางตอนใต้ ตั้งแต่บ้านหม้อ บ้านญวณ ลงไปจนถึงคลองรอบกรุง ส่วนภายนอกกำแพงเมืองนั้นมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณท้องที่สามเพ็งตลอดลงไปจนถึงตำบลตลาดน้อย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีเจตจำนงส่งเสริมความเจริญเติบโตของพระนครทางด้านเหนือ
โดยเริ่มต้นด้วยการขุดคลองเปรมประชากรด้วยเงินของพระคลังข้างที่ ด้วยทรงพระราชดำริว่าคลองใหญ่ที่อยู่เหนือคลองผดุงกรุงเกษมอันเป็นเขตคั่นพระนครกับท้องที่นอกพระนครในขณะนั้น ส่วนใหญ่ขุดจากแม่น้ำเจ้าพระยาตัดไปไปทางตะวันออก แต่ถ้าทำการขุดคลองจากฝั่งใต้ของคลองโค แขวงเมืองกรุงเก่า ลงมาทางทิศใต้ให้ตัดกับคลองเก่า เช่น คลองบางซื่อ และคลองสามเสน มาออกคลองผดุงกรุงเกษมที่หน้าวัดโสมนัสวิหาร จะเกิดประโยชน์แก่การคมนาคมและการทำมาหากินของประชาชนเปํนอันมาก จะส่งเสริมให้ประชาชนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในท้องที่เหนือพระนครมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเปรมประชากรขึ้น มีความยาวถึง 1,271 เส้น 3 วา โดยเริ่มขุดเมื่อปีพุทธศักราช 2413 จากคลองโคมาบรรจบกับคลองผดุงกรุงเกษมในปีพุทธศักราช 2415 สิ้นเงินพระคลังข้างที่ 2,544 ชั่ง 2 ตำลึง
นอกจากนั้น ยังมีการขุดคลองขวางซึ่งขุดแยกจากคลองผดุงกรุงเกษมไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ช่องนนทรี คลองนี้เป็นคลองขวาง ถนนสี่พระยา ถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม และถนนสาธร เป็นแนวจากเหนือไปใต้ ตอนปลายคลองผ่านตำบลช่องนนทรี ประชาชนจึงเรียกคลองในบริเวณนี้ว่า คลองช่องนนทรี และขุดคลองวัดสามปลื้ม คลองโรงกะทะ คลองวัดปทุมคงคง คลองบางรัก คลองสาธร คลองอรชร คลองสวนหลวง คลองสระปทุม และคลองราชดำริ คลองเหล่านี้ส่วนใหญ่ผ่านย่านชุมชน อาคารบ้านเรือน และทุ่งนา
ในตอนต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช 2411 - 2426) ยังไม่ค่อยมีการสร้างถนนสายใหม่มากนัก เพราะรายได้ของประเทศยังฝืดเคืองอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายถนนสายใหม่มากนัก เพราะรายได้ของประเทศยังฝืดอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายถนนสายเกล่าและบังคับให้ราษฎรรื้อกระท่อมออกไปจากริมกำแพงเมือง ถนนสายเก่าที่ได้รับการปรับปรุงหรือขยายให้กว้างขวางออกไป นอกจากถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครแล้ว ยังมีถนนเลียบกำแพงพระบรมมหาราชวังทั้ง 4 ด้านได้แก่ ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนท้ายวัง และถนนมหาราช ถนนเลียบคลองคูเมืองเดิมทั้งสองฝั่งได้แก่ถนนราชินีและถนนอัษฎางค์ ส่วนถนนที่สร้างขึ้นใหม่นั้นได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนจักรเพชร และถนนมหาไชย ซึ่งล้วนแต่เป็นถนนภายในกำแพงเมืองทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับปรุงถนนและสร้างถนนมาหลายสายดังกล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถนั่งรถให้รอบกำแพงเมืองได้เพราะพื้นที่ภายในกำแพงเมืองยังมีสวนและป่าอยู่หลายตำบล เช่น ตำบลบ้านแขก บ้านตะนาว บ้านพานถม และสวนตึกดิน นอกจากนั้นยังมีบ้านราษฎรยากจนซึ่งเป็นไพร่หลวงและไพร่สม รวมทั้งบ้านของเจ้านายและข้าราชการปลูกอยู่ที่ริมกำแพงเมืองอยู่อีกมาก
ในตอนกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช 2427 - 2439) มีการสร้างถนนใหม่หลายสายที่มีขนาดกว้างกว่าสมัยก่อน ๆ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปูอิฐถนนสระปทุมที่สร้างต่อจากถนนบำรุงเมืองตรงไปยังวังสระปทุม และสร้างถนนจากวังสระปทุมไปบรรจบกับถนนตรงหรือถนนวัวลำพองเพื่อขยายการคมนาคมทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครให้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากถนนสระปทุมแล้ว ยังมีถนนที่อยู่ทางด้านตะวันออกของพระนครอีก 3 สายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น คือ ถนนตลาดนางเลิ้ง (ถนนนครสวรรค์) โดยสร้างจากคลองรอบกรุงตรงกับประตูพฤฒิบาศ ตรงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) สร้างจากคลองผดุงกรุงเกษมไปทางตะวันออกจนถึงริมคลองแสนแสบ ที่อยู่ตรงข้ามวังสระปทุม และถนนบริพัตร สร้างจากสะพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงแยกจากถนนเจริญกรุงไปยังวัดสระเกศ
ทางด้านเหนือของพระนครมีการสร้างถนนใหม่ 2 สาย คือ ถนนสามเสนสร้างตั้งแต่สะพานนรรัตน์
ผ่านวังบางขุนพรหมไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม และสร้างถนนกรุงเกษมเลียบฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนตรงหรือถนนวัวลำพอง (หัวลำโพงก็เรียก)
ส่วนทางด้านใต้ของพระนครก็มีการสร้างถนนหลายสาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือถนนที่สร้างในตำบลสามเพ็ง ได้แก่ ถนนเยาวราช ซึ่งสร้างตั้งแต่บริเวณริมคลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางใต้ บรรจบกับถนนราชวงศ์ ซึ่งแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปยังฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างถนนริมกำแพงเมืองให้ติดต่อกันเป็นวงรอบพระนคร เว้นแต่ตอนที่เป็นพระราชวังบวรสถานมงคลเท่านั้น และสร้างถนนข้าวสารแยกจากถนนจักรพงษ์ที่หน้าวัดชนะสงครามไปตามตรอกข้าวสารไปบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนใกล้กับตึกดิน สร้างถนนพาหุรัดโดยเริ่มจากถนนเฟื่องนครไปจนถึงประตูสะพานหัน และสร้างถนนแยกจากถนนพาหุรัด 2 สาย โดยสายหนึ่งผ่านหลังวังบูรพาภิรมย์ไปบรรจบกับถนนเจริญกรุง และอีกสายหนึ่งผ่านวัดสุทัศน์ไปบรรจบถนนบำรุงเมือง
การเสด็จประพาสยุโรปเป็นเวลาหลายเดือนในปีพุทธศักราช 2440 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์กรุงรัตนโกสินทร์ให้สวยงามและสะอาดเหมือนเช่นประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป
ในปีพุทธศักราช 2441 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อที่สวนและที่นาทางตอนเหนือของพระนคร ระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองสามเสนเป็นเนื้อที่หลายร้อยไร่ พระราชทานชื่อว่า สวนดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสำหรับเป็นที่ประทับคือ พระราชวังสวนดุสิต และให้สร้างถนนรอบสวนดุสิต ได้แก่ ถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถี) โอบทางด้านหลัง ถนนดวงตะวัน (ถนนศรีอยุธยา) โอบทางด้านหน้า ถนนลก (ถนนพระรามที่ 5) โอบทางด้านตะวันออก และถนนสามเสนตอนตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษมขึ้นไปจนถึงคลองสามเสน โดยสร้างต่อจากถนนสามเสนเดิมที่ทำจากคลองรอบกรุงมาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม โอบทางด้านตะวันตก รวมทั้งถนนเบญมาศ ซึ่งสร้างจากสวนดุสิตไปจนถึงถนนกรุงเกษมใกล้กับป้อมหักกำลังดัษกร
จะเห็นได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังดุสิต และสร้างถนนในบริเวณนั้นนอกจากจะเพื่อสร้างพระราชวังใหม่ในที่สงบเงียบสำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานแล้ว ยังเป็นการสนองพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสร้างพระราชวังสระปทุมเพื่อนำทางขยายพระนคร เพราะทรงเห็นการณ์ไกลว่า กรุงรัตนโกสินทร์จะต้องเจริญเติบโตค่อนข้างรวดเร็วต่อไป ประกอบกับสภาพพระนครในขณะนั้นมีคนอาศัยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภายในบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณทางด้านใต้และบริเวณอำเภอบางรัก ซึ่งเป็นย่านการค้าและที่ตั้งกงสุล จึงสมควรที่จะมีการวางแผนขยายเมืองหลวงออกไปทางเหนือโดยเฉพาะบริเวณอำเภอดุสิต ซึ่งเป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะตั้งบ้านเรือน เพราะเป็นที่ราบลุ่มกว้างไกลออกไปทางเหนือ
นอกจากนั้น มีถนนอีกสายหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างให้ใหญ่โตกว้างขวางกว่าถนนสายอื่น ๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ถนนราชดำเนิน การสร้างถนนราชดำเนินแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ถนนราชดำเนินนอกตอนหนึ่ง ถนนราชดำเนินกลางตอนหนึ่ง และถนนราชดำเนินในอีกตอนหนึ่ง ทั้งนี้ โดยเริ่มสร้างถนนราชดำเนินนอกก่อนในปีพุทธศักราช 2442 โดยในขั้นแรกนั้นกะจะสร้างข้ามคลองรอบกรุง ผ่านตำบลบ้านพานถม ไปบรรจบกับถนนเบญมาศ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงแนวถนนเสียใหม่คือสร้างจากริมคลองรอบกรุงตรงประตูพฤฒิบาศ ผ่านบ้านช่างหล่อ ไปบรรจบกับถนนเบญมาศ ถนนที่สร้างนี้กว้าง 29 วา ประกอบด้วย ถนนสายกลางกว้าง 8 วา ทางเดินเท้าสองข้างถนนสายกลางข้างละ 5 วา กับถนนสายนอกกว้าง 4 วา อีกสองสาย และมีทางเดินเท้าริมถนนสายนอกสองข้าง กว้างข้างละ 1 วา 2 ศอก ในทางเดินเท้าสองข้างของถนนสายกลางนั้นปลูกต้นไม้สายละ 2 แถว เพื่อให้เป็นที่ร่มเย็นแก่คนเดินทาง หนังสือราชกิจจานุเบกษา ปีรัตนโกสินทร์ศก 122 ได้กล่าวถึงวิธีการสร้างถนนนี้ว่า “อนึ่งที่ดินตำบลนี้เดิมเป็นที่สวน มีลำรางและร่องสวนเป็นที่ลุ่มตลอดไป การสร้างถนนในชั้นแรกต้องทำท่อรางน้ำ แลถมดินปูอิฐ รอให้ดินยุบอยู่หลายฤดูฝน จนดินแน่นแล้วจึงโปรดฯ ให้กรมศุขาภิบาลถมศิลา”
เมื่อการสร้างถนนราชดำเนินนอกใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ลงมือสร้างถนนราชดำเนินกลาง โดยเริ่มลงมือในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2444 ประกอบด้วย ถนนสายกลาง 1 สาย ถนนสายนอก 2 สาย และทางเดินเท้าริมถนนสายกลาง 2 สาย ทางเดินเท้าริมถนนสายนอก 2 สาย เหมือนเช่นถนนราชดำเนินนอก
ส่วนการสร้างถนนราชดำเนินในนั้น สร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชยมาบรรจบกัน ผ่านริมสนามหลวงด้านตะวันออกไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2446
เมื่อสร้างถนนราชดำเนินเสร็จเรียบร้อยตลอดทั้งสายแล้ว ได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองในถนนสายนี้อย่างวิจิตรงดงามกว่าสะพานอื่น ๆ ได้แก่ สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยสร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมถนนราชดำเนินกับถนนเบญมาศ และมีการสร้างสะพานผ่านภพลีลาเชื่อมถนนราชดำเนินในกับถนนราชดำเนินกลาง
ในตอนปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างถนนเพิ่มเติมอีกหลายสายในบริเวณต่างๆ ดังนี้คือ
ทางด้านใต้ของพระนคร ท้องที่อำเภอสามเพ็งอันเป็นย่านชาวจีน จัดเป็นท้องที่ที่มีผู้ค้นอาศัยหนาแน่นที่สุดในพระนคร เนื่องจากความหนาแน่นของพลเมืองและความนิยมจุดธูปเทียนบูชาพระ บูชาเจ้าของชาวจีน ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้ในท้องที่อำเภอสามเพ็งบ่อยครั้ง ทางการจึงถือโอกาสที่เกิดไฟไหม้ทำการตัดถนนและขยายถนนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ถนนทรงวาด ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนอนุวงศ์ และถนนซอยผลิตผล เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างถนนของเอกชนที่มีความประสงค์จะขายที่ดินริมถนนอีก 3 สาย คือ ถนนสุรวงษ์ ถนนเดโช ซึ่งพระยาสีหราชเดโชชัย บุตรเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ เป็นผู้สร้างในที่ดินของสกุลบุนนาค เมื่อปีพุทธศักราช 2440 และถนนสี่พระยา ซึ่งขุนนางชั้นพระยา 4 คน คือ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง พระยาพิพัฒน์โกษา พระยานรฤทธิ์ราชหัช (ทองดี) และพระยานรนารถภักดี กับขุนนางชั้นหลวงอีกหนึ่งคนคือ หลวงมนัศมานิต (เผล่) รวมทุนกันสร้างในปีพุทธศักราช 2447 และการที่ประชาชนไปตั้งบ้านเรือนริมถนนสีลมและถนนสาธรเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการตัดถนนซอยเชื่อมถนนสีลมกับถนนสาธรขึ้นหลายสาย ที่สำคัญคือถนนสุรศักดิ์ ถนนประมวญ ถนนพระยาพิพัฒน์ และถนนคอนแวนต์
ทางด้านตะวันออกของพระนคร มีการสร้างถนนในเวิ้งนครเกษม ถนนวรจักร ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนหลวง ถนนหลานหลวง ถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี) ถนนพญาไท และถนนราชปรารภ นอกจากนั้นยังมีเอกชนสร้างถนนสาธารณะสายหนึ่งทางด้านตะวันออกของพระนคร เมื่อปีพุทธศักราช 2446 คือถนนรองเมือง ซึ่งสร้างโดยพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง และต่อมามีการสร้างถนนซอยของถนนรองเมือง รวม 3 สาย คือ ซอย 1 ซอย 2 และซอย 3์
ทางด้านเหนือของพระนคร มีการสร้างถนนบริเวณด้านเหนือของคลองผดุงกรุงเกษม ถนนที่อยู่เหนือสุดได้แก่ ถนนราชวัตร (ถนนนครไชยศรี) ถัดลงมาคือ ถนนดวงเดือน (ถนนสุโขทัย) ถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถี) ถนนดวงตะวัน (ถนนศรีอยุธยา) ถนนคอเสื้อ (ถนนพิษณุโลก) และถนนลูกหลวง ซึ่งเลียบฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมด้านเหนือ ส่วนถนนขวางที่มีทิศทางจากเหนือลงมาใต้ ได้แก่ ถนนลก (ถนนพระรามที่ 5) ซึ่งทำขนานไปกับคลองเปรมประชากรจนถึบคลองบางซื่อ ถนนฮก (ถนนหน้าวัดเบญจมบพิตร) ถนนซิ่ว (ถนนสวรรคโลก) ซึ่งผ่านด้านตะวันออกของสวนจิตรลดา และถนนประทัดทอง (ถนนพระรามที่ 6) ซึ่งเริ่มจากถนนเพชรบุรีไปตัดกับถนนซางฮี้ แล้วเลยไปถึงที่ส่งน้ำประปาคลองสามเสน
ในสมัยนี้มีการสร้างสะพานข้ามคลองที่มีถนนตัดผ่านหลายสะพาน สะพานที่เป็นที่รู้จักกันดี และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมอย่างสูง ได้แก่ สะพานชุดเฉลิม ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 17 สะพาน สะพานเหล่านี้เริ่มสร้างครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2437 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสาธารณทาน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ด้วยการบริจารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานให้เจ้าพนักงานกรมโยธาธิการไปสร้างสะพานข้ามคลองบางขุนพรหม ที่ถนนสามเสน พระราชทานนามว่า สะพานเฉลิม 42 และได้มีพิธีเปิดสะพานแห่งนี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2438 อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 42 พรรษา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างสะพานตลอดมาทุกปี จนกระทั่งสิ้นรัชกาลในปีพุทธศักราช 2453 โดยมีชื่อเรียกว่า สะพานเฉลิมทุกสะพาน เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขตามพระชนมายุในปีนั้น ๆ เท่านั้น จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2452 ซึ่งในเวลานั้นได้มีการสร้างสะพานเฉลิมมาแล้วเป็นจำนวน 15 สะพานและเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่าชื่อสะพานที่มีเพียงตัวเลขกำกับนั้นยากต่อการเรียกและการจดจำ จึงพระราชทานชื่อสะพานดังนี้คือ
สะพานเฉลิมศรี 42 อยู่ที่ถนนสามเสน สร้างข้ามคลองบางขุนพรหม
สะพานเฉลิมศักดิ์ 43 อยู่ที่ถนนหัวลำโพงนอก สร้างข้ามคลองริมาถนนสนามม้า
สะพานเฉลิมเกียรติ 44 อยู่ที่ปลายถนนสาธรฝั่งใต้ สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
สะพานเฉลิมยศ 45 อยู่ที่ถนนวรจักร สร้างข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์
สะพานเฉลิมเวียง 46 อยู่ที่ถนนเยาวราช สร้างข้ามคลองตรอกเต๊า
สะพานเฉลิมวัง 47 อยู่ที่ถนนอุณากรรณ สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน
สะพานเฉลิมกรุง 48 อยู่ที่ถนนเจริญกรุง สร้างข้ามคลองวัดจักรวรรดิ
สะพานเฉลิมเมือง 49 อยู่ที่ถนนเจ้าพระยาสุรศักดิ์ สร้างข้ามคลองสาธร
สะพานเฉลิมภพ 50 อยู่ที่ปลายถนนสุรวงศ์ สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
สะพานเฉลิมพงษ์ 51 อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร สร้างข้ามคลองสะพานถ่าน
สะพานเฉลิมเผ่า 52 อยู่ที่ถนนปทุมวัน สร้างข้ามคลองริมถนนสนามม้า
สะพานเฉลิมพันธ์ 53 อยู่ที่ถนนเจริญกรุง สร้างข้ามคลองวัดสามจีน
สะพานเฉลิมภาคย์ 54 อยู่ที่ถนนเจริญกรุง สร้างข้ามคลองสีลม
สะพานเฉลิมโลก 55 อยู่ที่ถนนราชดำริห์ และถนนประแจจีน สร้างข้ามคลองบางกะปิ
สะพานเฉลิมหล้า 56 อยู่ที่ถนนพญาไท สร้างข้ามคลองบางกะปิ
และต่อมาได้มีการสร้างสะพานเฉลิมขึ้นอีก 2 สะพาน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว คือ
สะพานเฉลิมเดช 57 อยู่ที่ปลายถนนสี่พระยา สร้างข้ามคลองหัวลำโพง
สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 อยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ สร้างข้ามคลองโรงไหม
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างสะพานอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก คือ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานผ่านภพลีลา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานสมมตอมรมารค สะพานดำรงสถิต สะพานพิทยเสถียร สะพานภาณุพันธุ์ สะพานกลุ่มวัดเบญจมบพิตร สะพานข้ามคลองเม่งเส็ง สะพานพระอรรคชายา สะพานอรไทย สะพานหน้าวัดโสมนัส และข้างวัดนรนารถ สะพานวัดราชาธิวาส สะพานชมัยมรุเชฐ สะพานบ้านดอกไม้ สะพานในกลุ่มวัดสระเกศและกลุ่มสามเสน และสะพานหน้าสวนสราญรมย์
สำหรับภายในเขตพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาประสาทเพิ่มเติม 2 องค์ คือ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท สร้างตรงบริเวณสวนศิวาลัย ด้านตะวันออกเฉียงใต้ข้างประตูราชสำราญ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์มาก่อน ครั้นพระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้ทำประโยชน์อันใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อออก แล้วสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นแทน เมื่อปีพุทธศักราช 2431 สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในราชวงศ์จักรี ส่วนพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งคือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2419 เนื่องจากพระที่นั่งเดิมที่มีอยู่ล้วนชำรุดทรุดโทรมและมีขนาดเล็กไม่เหมาะสมที่จะใช้รับแขกบ้านแขกเมืองให้สมพระเกียรติได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเขื่อนเพชรและมุขพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ มุขพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติออกแล้วสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทลงในชาลานั้น ส่วนที่ท้องพระโรงกลาง สร้างสอดเข้าไปในระหว่างกลางพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป โดยสร้างพระที่นั่งเป็นตึกแบบฝรั่ง ส่วนหลังคาเป็นแบบปราสาทอย่างไทย เมื่อสร้างเสร็จทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในปีพุทธศักราช 2425
นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ดังนี้ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระที่นั่งดำรงคสวัสดิ์อนัญวงศ์ พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระที่นั่งอมรพิมานมณี พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ พระที่นั่งบรรณาคมสรนี พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัย พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร
และสร้างพระที่นั่งอื่น ๆ อีก คือ พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า พระที่นั่งบรมพิมาน) และพระที่นั่งทรงผนวช (สร้างไว้ทางด้านเหนือพระพุทธรัตนสถานในสวนศิวาลัย ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตร)
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การพัฒนาเมืองเป็นแบบทันสมัยได้เริ่มขึ้น มีโครงการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้จากการพัฒนาทางรถไฟ โทรศัพท์ และสาธารณูปโภคต่างๆ ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาเมืองหลวง และโครงการพัฒนาชนบทได้เริ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บ้านเมืองมีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ มีความสวยงามสะอาด เจริญตา เจริญใจแก่ผู้พบเห็น คู คลองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ได้ทะนุบำรุงพัฒนาให้สะดวกแก่การสัญจรไปมามากขึ้น โดยมีการสร้างถนนและปลูกต้นไม้ เช่น ต้นมะขาม ต้นมะฮอกกานี และต้นจามจุรี เลียบฝั่งคลองทั้งสองข้างและตามริมถนน สภาพบ้านเมืองจึงมีสีสรรเขียวขจี ชุ่มชื่นร่มเย็น และสง่างาม ส่วนอาคารร้านค้าก็สร้างขึ้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น แถวบริเวณหน้าและหลังโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า มีการสร้างศูนย์การค้า เช่น บริเวณถนนเยาวราช ศูนย์กลางคมนาคมทางรถไฟ เช่น สถานีรถไฟกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นเป็นบริเวณชานเมือง เป็นต้น
สำหรับการปกครองกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่แรกสถาปนาขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมนครบาลมาโดยตลอดเหมือนเช่นที่เป็นมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช 2435 โดยยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ซึ่งใช้มาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยามาจัดเป็นกระทรวงต่าง ๆ ตามลักษณะงานได้ทรงจัดให้กรุงรัตนโกสินทร์สังกัดอยู่ในความปกครองของกระทรวงนครบาล ส่วนหัวเมืองอื่น ๆ ขึ้นอยู่ในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้จัดการปกครองโดยรวมเมืองต่าง ๆ หลาย ๆ เมืองเข้าเป็นมณฑล การตั้งมณฑลเสร็จสิ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2449 กรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้รับการยกขึ้นเป็นมณฑลด้วย และเป็นมณฑลเดียวของกระทรวงนครบาล ในชื่อว่า มณฑลกรุงเทพพระมหานคร และรวมหัวเมืองใกล้เคียงพระมหานครเข้าไว้ในสังกัดด้วย คือ เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองนนทบุรี เมืองประทุมธานี และเมืองสมุทรปราการ เสนาบดีกระทรวงนครบาลดำรงตำแหน่งหัวหน้าปกครองมณฑลด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เรียกว่า สมุหพระนครบาล
ต่อมาเมื่อความเจริญขยายออกไปในแถบทุ่งหลวง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองธัญญะบุรีและเมืองมีนบุรีขึ้น และรวมเข้าไว้ในมณฑลกรุงเทพพระมหานครด้วย มณฑลกรุงเทพพระมหานครขณะนั้น จึงมีพื้นที่ถึง 3,091 ตารางกิโลเมตร เฉพาะตัวพระนครมีพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็นอำเภอชั้นใน 8 อำเภอ คือ อำเภอพระนคร อำเภอสามเพ็ง อำเภอบางรัก อำเภอประทุมวัน อำเภอดุสิต อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางลำภูล่าง อำเภอบางกอกใหญ่ ต่อมายุบเหลือ 7 อำเภอ โดยยกอำเภอประทุมวันไปขึ้นกับอำเภอดุสิต สำหรับอำเภอชั้นนอกมี 8 อำเภอ คือ อำเภอบางซื่อ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ อำเภอหนองแขม อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเจริญของกรุงรัตนโกสินทร์ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางเพราะมีการติดต่อกับประเทศภายนอกทั้งเอเซีย ยุโรป และอเมริกามากขึ้น การขยายตัวของกรุงรัตนโกสินทร์ทางด้านตะวันตก เริ่มจากบริเวณสี่พระยา จนถึงบริเวณถนนตก ซึ่งแยกออกได้เป็น 3 เขต คือ เขตที่พักอาศัย บริเวณถนนสีลม บางรัก และบริเวณถนนสาธร เขตการค้าได้ขยายตัวออกไปสองฟากถนนเจริญกรุง และเขตอุตสาหกรรมขยายตัวเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งวัตถุดิบมาจากหัวเมือง ส่วนบริเวณด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ไม่สู้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีอาชีพเป็นชาวสวน ชาวนา และทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนบริเวณบางลำภู เป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าไทยพื้นเมือง รวมทั้งผักสด ผลไม้ ย่านการค้าที่สำคัญในรัชสมัยนี้มีอยู่ 3 แห่ง คือ บริเวณถนนเยาวราช เป็นย่านคนจีน บริเวณบางรักเป็นย่านชาวยุโรป และบริเวณบางลำภู เป็นย่านคนไทย ทั้งสามย่านจะมีลักษณะแยกออกจากกันเด็ดขาด โดยแต่ละย่านจะประกอบด้วยบริเวณที่พักอาศัย การประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และการค้าขาย
สำหรับการบูรณะปรับปรุงในบริเวณพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังอีก 2 องค์ คือ
พระที่นั่งราชฤดี สร้างในบริเวณข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก สำหรับเป็นที่สรงมูรธาภิเษกในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาและในพระราชพิธีอื่น ๆ (ยกเว้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) ในครั้งแรกพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส” ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งราชฤดี”
พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ สร้างที่บริเวณริมสนามทางด้านเหนือของพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เบื้องหลังพระที่นั่งบรมพิมาน สำหรับใช้เป็นที่ประทับในโอกาสต่างๆ เช่น เป็นที่ประทับเสวยในโอกาสที่มีการพระราชทานเลี้ยงกลางแจ้ง หรือประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย ในงานพระราชอุทยานสโมสร เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐานขึ้นในสวนจิตรลดา เขตพระราชวังสวนดุสิต เมื่อปีพุทธศักราช 2456 โดยสร้างในเนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ สำหรับใช้เป็นที่ประทับ
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินอันกว้างใหญ่บริเวณทุ่งศาลาแดง ที่ทรงใช้จัดนิทรรศการประเทศสยามเพื่อแสดงความก้าวหน้าของชาติให้เป็นสวนสาธารณะ และพระราชทานนามว่า สวนลุมพินี ตามชื่อสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งนับเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และในรัชกาลนี้มีการสร้างถนนหนทางเพิ่มเติมอีกหลายสายคือ
ตัดถนนในบริเวณตำบลที่อยู่ระหว่างถนนหัวลำโพงกับถนนประทุมวัน พระราชทานนามว่า ถนนประทัดทอง
ตัดถนนในบริเวรที่เกิดเพลิงไหม้ตรอกเชียงกงเก่า ถนนเจริญกรุงไปบรรจบกับถนนทรงวาด (ตรงสี่แยกถนนทรงวาดกับสามเพ็ง) พระราชทานามว่า ถนนปทุมคงคา
ตัดถนนจากถนนบ้านตะนาวไปบรรจบกับถนนบ้านดินสอบริเวณหลังตลาดเสาชิงช้า พระราชทานนามว่า ถนนมหรรณพ
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ตำบลหัวลำโพง รวม 3 สาย คือ
สายที่ 1 ตั้งแต่ถนนหัวลำโพงตอนเชิงสะพานเจริญสวัสดิ์ไปบรรจบสี่แยกถนนพลับพลาไชยเชื่อมกับถนนหลวง
สายที่ 2 ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตอนปากถนนทรงวาดไปบรรจบถนนกรุงเกษม ตอนเชิงสะพานนพวงษ์
สายที่ 3 ตั้งแต่ถนนพลับพลาไชยเยื้องวัดคณิกาผลไปบรรจบถนนกรุงเกษม
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ตำบลศาลเจ้าต้นไทรริมถนนเจริญกรุงไปออกถนนเยาวราช 1 สาย และจากถนนเยาวราชเชื่อมกับถนนพาดสายอีก 1 สาย รวมทั้งขยายตรอกต่าง ๆ ด้วย
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ตำบลตรอกศาลเจ้าอาม้าเก็งจากถนนเจริญกรุงไปออกถนนเยาวราช 1 สาย และจากถนนราชวงศ์ไปออกคลองจักรวรรดิที่กำลังถมเป็นถนนอีก 1 สาย
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ตำบลตรอกเต้าหู้ รวม 6 สาย คือ
สายที่ 1 ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงไปบรรจบถนนหลวงข้างโรงพยาบาลกลาง พระราชทานนามว่า ถนนเสือป่า
สายที่ 2 ตั้งแต่ถนนวรจักรไปบรรจบถนนพลับพลาไชยตรงวัดคณิกาผลด้านใต้ ผ่านถนนจักรวรรดิ์และตรอกเต๊าที่ถมใหม่ พระราชทานนามว่า ถนนยมราชสุขุม
สายที่ 3 ตั้งแต่คลองจักรวรรดิที่ถมใหม่ไปบรรจบถนนพลับพลาไชยข้างวัดคณิกาผลด้านเหนือผ่านถนนสายที่ 1 และตรอกเต๊า พระราชทานนามว่า ถนนเจ้าคำรบ
สายที่ 4 ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตรงกับถนนที่ตัดใหม่ตำบลศาลเจ้าอาม้าเก็ง ไปบรรจบถนนสายที่ 2 พระราชทานนามว่า ถนนศรีธรรมาธิราช
สายที่ 5 ขยายตรอกเต้าหู้ ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงไปบรรจบกับถนนสายที่ 2
ตัดถนนตั้งแต่ถนนราชดำริห์ ตรงไปทางตะวันออกถึงถนนขวางที่ตั้งวิทยุโทรเลข พระราชทานนามว่า ถนนเพลินจิต และถนนขวางที่ตั้งวิทยุโทรเลขไปบรรจบถนนพระรามที่ 5 พระราชทานนามว่า ถนนวิทยุู้
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ตำบลตรอกซุง ถนนสาธร รวม 3 สาย คือ
สายที่ 1 ตั้งแต่ถนนสาธรไปบรรจบถนนตรอกไก่ พระราชทานนามว่า ถนนจรัสเวียง
สายที่ 2 ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงไปบรรจบกับถนนสายที่ 1 พระราชทานนามว่า ถนนเจริญเวียง
สายที่ 3 ตั้งแต่ถนนสายที่ 1 ไปบรรจบถนนสุรศักดิ์ พระราชทานนามว่า ถนนจรูญเวียง
นอกจากนั้น ยังมีถนนที่เอกชนขออนุญาตสร้างอีกหลายสาย เช่น กรมขุนสรรพศาสตรศุภกิจขอพระบรมราชานุญาต ทำการตัดถนนตรงถนนประทุมวันต่อกับถนนราชดำริห์ ตรงสะพานเฉลิมโลกไปยังทุ่งประทุมวันถึงทางรถไฟที่จะผ่านไปช่องนนทรี โดยสายหนึ่งตัดไปทางใต้จนบรรจบกับถนนศาลาแดง และอีกสายหนึ่งตัดไปทางเหนือข้ามคลองแสนแสบ ไปบรรจบถนนที่จะไปที่ทำการประปา และถนนที่ตัดไปทางเหนือและใต้นี้ยาวประมาณ 60 เส้น และบริษัทซีเมนต์สยามขอพระบรมราชานุญาตตัดถนนต่อจากถนนลก (ถนนพระรามที่ 5) ไปตามริมคลองเปรมประชากรถึงสถานีรถไฟบางซื่อ เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินตามพระยุคลบาทของสมเด็จพระบรมราชชนก ในการทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ สร้างสะพานเป็นสาธารณประโยชน์ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สะพานที่ทรงสร้างเหล่านี้มีคำว่า “เจริญ” นำหน้า มีจำนวน 6 สะพาน คือ
สะพานเจริญรัช 31 อยู่ที่ปากคลองตลาด
สะพานเจริญราษฎร์ 32 อยู่ที่ถนนกรุงเกษม สร้างข้ามคลองมหานาค
สะพานเจริญพาศน์ 33 อยู่ที่ถนนอิสรภาพ สร้างข้ามคลองบางกอกใหญ่
สะพานเจริญศรี 34 อยู่ที่เยื้องหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม สร้างข้ามคลองคูเมืองเดิม
สะพานเจริญทัศน์ 35 อยู่ที่ถนนบำรุงเมือง สร้างข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม
สะพานเจริญสวัสดิ์ 36 อยู่ที่ถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
นอกจากนั้น ยังมีการสร้างสะพานอื่น ๆ อีกหลายสะพาน เช่น สะพานราชเทวี สะพานอุรุพงษ์ สะพานอุบลรัตน์ สะพานช้างโรงสี สะพานมอญ สะพานในบ้านพิษณุโลก สะพานเสาวนีย์ สะพานมหาดไทยอุทิศ และในสมัยนี้มีการขุดคลองสำหรับระบายน้ำตั้งแต่คลองสกัดสายล่างมาบรรจบกับคลองตันและประตูน้ำพระโขนง และมีการถมคลองจักรวรรดิเพื่อทำการตัดถนนน
สำหรับการปกครองกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าท้องที่การปกครองมณฑลกรุงเทพพระมหานครที่แบ่งไว้เดิมนั้นกว้างใหญ่เกินไป เมื่อประชาชนพลเมืองหนาแน่นขึ้นไม่อาจปกครองดูแลให้ทั่วถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลออก “ประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน 7 อำเภอ และตั้งอำเภอขึ้นใหม่ 25 อำเภอ” ลงวันที่ 15 ตุลาคม พุทธศักราช 2458 มีสาระสำคัญ ดังนี้ (สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)
 
1. อำเภอพระราชวัง อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอชนะสงคราม แต่ริมลำแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามลำคลองโรงไหมฝั่งใต้ ถึงสามแยกคลองวัดเทพธิดามุมวัดบุรณสิริมาตยาราม ทิศตะวันออกต่ออำเภอสำราญราษฎร์และอำเภอพาหุรัด แต่สามแยกคลองวัดเทพธิดามุมวัดบุรณสิริมาตยารามไปตามลำคลองริมถนนราชินีฝั่งตะวันตก ถึงปากคลองตลาดฝั่งเหนือ ทิศตะวันออกต่ออำเภอบุปผาราม อำเภอหงษาราม อำเภออมรินทร์ แต่ปากคลองตลาดฝั่งเหนือเลียบขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกถึงปากคลองโรงไหมฝั่งใต้ ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอพระราชวัง
 
2. อำเภอชนะสงคราม อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางขุนพรหม และอำเภอนางเลิ้ง แต่ปากคลองบางลำภูบนไปตามลำคลองบางลำภูฝั่งใต้ ถึงสามแยกคลองมหานาคริมบรมบรรพต ทิศตะวันออกต่ออำเภอสามยอด แต่สามแยกคลองมหานาคริมบรมบรรพตไปตามลำคลองสะพานหันฝั่งตะวันตกถึงคลองวัดเทพธิดา ทิศใต้ต่ออำเภอสำราญราษฎร์ไปตามลำคลองวัดเทพธิดาฝังใต้ถึงสามแยกมุมวัดบุรณสิริมาตยาาม ทิศตะวันตกต่ออำเภอพระราชวังและอำเภอบางพลัด แต่สามแยกมุมวัดบุรณสิริมาตยารามไปตามลำคลองโรงไหมฝั่งใต้ออกลำน้ำเจ้าพระยาเลี้ยวขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองบางลำภูบนฝั่งใต้ ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอชนะสงคราม
 
3. อำเภอสำราญราษฎร อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอชนะสงคราม แต่สามแยกคลองมุมวัดบุรณสิริมาตยารามไปตามลำคลองวัดเทพธิดาฝั่งใต้ถึงคลองสะพานหัน ทิศตะวันออกต่ออำเภอสามยอด แต่คลองวัดเทพธิดาไปตามลำคลองสะพานหันฝั่งตะวันตกถึงคลองสะพานถ่าน ทิศใต้ต่ออำเภอพาหุรัด แต่คลองสะพานหันไปตามลำคลองสะพานถ่าน ฝั่งใต้ถึงคลองหลอด ทิศตะวันตกต่ออำเภอพระราชวัง แต่คลองสะพานถ่านไปตามลำคลองหลอด ฝั่งตะวันตกถึงคลองวัดเทพธิดามุมวัดบุรณสิริมาตยาราม ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอสำราญราษฎร์
 
4. อำเภอพาหุรัด อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอสำราญราษฎร์ แต่คลองหลอดไปตามลำคลองสะพานถ่านฝั่งใต้ถึงคลองสะพานหัน ทิศตะวันออกต่ออำเภอจักรวรรดิ์ แต่คลองสะพานถ่านไปตามลำคลองสะพานหัน ฝั่งตะวันตกถึงลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ต่ออำเภอบุบผาราม แต่คลองสะพานหันฝั่งเหนือขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองตลาดฝั่งเหนือ ทิศตะวันตกต่ออำเภอพระราชวัง แต่ปากคลองตลาดไปตามลำคลองถึงคลองสะพานถ่านฝั่งใต้ ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอพาหุรัด
 
5. อำเภอจักรวรรดิ์ อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอสามยอดและอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่คลองสะพานหันไปตามถนนเจริญกรุงด้านใต้ถึงถนนแปลงนาม ทิศตะวันออกต่ออำเภอสัมพันธวงศ์ แต่ถนนเจริญกรุงไปตามถนนแปลงนามด้านตะวันตก และตามแนวตรอกโรงกะทะด้านตะวันตกถึงลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ต่ออำเภอบุบผาราม แต่ท่าโรงกะทะด้านเหนือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองโอ่งอ่างฝั่งเหนือ ทิศตะวันตกต่ออำเภอพาหุรัด แต่ปากคลองโอ่งอ่างฝั่งเหนือไปตามลำคลองสะพานหันฝั่งตะวันตกถึงสะพานดำรงสถิตย์ ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอจักรวรรดิ์
 
6. อำเภอสัมพันธวงศ์ อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ถนนแปลงนามด้านตะวันตกไปตามถนนเจริญกรุงด้านใต้ถึงถนนทรงวาด ทิศตะวันออกต่ออำเภอสามแยก แต่ถนนทรงวาดไปตามถนนเจริญกรุงด้านตะวันตกถึงคลองผดุงกรุงเกษมเชิงสะพานพิทยเสถียร ทิศใต้ต่ออำเภอบางรักและอำเภอบุบผาราม แต่เชิงสะพานพิทยเสถียรลงไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งเหนือเลี้ยวขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกถึงท่าโรงกะทะด้านเหนือ ทิศตะวันตกต่ออำเภอจักรวรรดิ์ แต่ท่าโรงกะทะไปตามตรอกโรงกะทะด้านตะวันตกและถนนแปลงนาม ด้านตะวันตกถึงถนนเจริญกรุง ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอสัมพันธวงษ์
 
7. อำเภอสามแยก อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ถนนทรงวาดไปตามถนนหัวลำโพงในด้านใต้ถึงคลองผดุงกรุงเกษม ทิศตะวันออกต่ออำเภอบางรัก แต่มุมถนนหัวลำโพงในไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกถึงเชิงสะพานพิทยเสถียร ทิศตะวันตกต่ออำเภอสัมพันธวงษ์ แต่เชิงสะพานพิทยเสถียรไปตามถนนเจริญกรุงด้านตะวันตกถึงมุมถนนทรงวาด ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอสามแยก
 
8. อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอนางเลิ้ง แต่คลองวัดจักรวรรดิ์ราชาวาสไปตามลำคลองมหานาคฝั่งใต้ ถึงสี่แยกมหานาค ทิศตะวันออกต่ออำเภอปทุมวัน แต่สี่แยกมหานาคไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกถึงสะพานสุประดิษฐ์ ทิศใต้ต่ออำเภอสามแยกอำเภอสัมพันธวงษ์ อำเภอจักรวรรดิ์ แต่เชิงสะพานสุประดิษฐ์ไปตามถนนหัวลำโพงในถนนเจริญกรุงด้านใต้ถึงสะพานเฉลิมกรุง 48 ทิศตะวันตกต่ออำเภอสามยอด แต่สะพานเฉลิมกรุง 48 ถนนเจริญกรุงไปตามคลองวัดจักรวรรดิ์ราชาวาสฝั่งตะวันตกถึงคลองมหานาค ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย
 
9. อำเภอสามยอด อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอนางเลิ้ง แต่สามแยกมหานาคริมบรมบรรพตไปตามลำคลองมหานาค ฝั่งใต้ถึงคลองวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ทิศตะวันออกต่ออำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ปากคลองวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส มาตามคลองวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ฝั่งตะวันตกถึงสะพานเแลิมกรุง 48 ถนนเจริญกรุง ทิศใต้ต่ออำเภอจักรวรรดิ์ แต่เชิงสะพานเฉลิมกรุง 48 ไปตามถนนเจริญกรุง ด้านใต้ถึงสะพานดำรงสถิตย์ ทิศตะวันตกต่ออำเภอพาหุรัด อำเภอสำราญราษฎร์ อำเภอชนะสงคราม แต่สะพานดำรงสถิตย์ไปตามลำคลองสะพานหันฝั่งตะวันตกถึงสามแยกคลองมหานาคริมบรมบรรพต ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอสามยอด
 
10. อำเภอนางเลิ้ง อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอดุสิต แต่คลองข้างวัดมกุฎกระษัตริยารามไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้จนถึงสะพานจตุรภักตร์ ทิศตะวันออกต่ออำเภอดุสิต แต่สะพานจตุรภักตร์ไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกถึงสี่แยกมหานาค ทิศใต้ต่ออำเภอสามยอด และอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่สี่แยกมหานาคไปตามลำคลองมหานาคฝั่งใต้ ถึงสามแยกมหานาคริมบรมบรรพต ทิศตะวันตกอยู่อำเภอชนะสงคราม แต่สามแยกมหานาคริมบรมบรรพตไปตามลำคลองบางลำภูบนฝั่งตะวันตกถึงปากคลองวัดตรีทศเทพ เลี้ยวไปตามลำคลองวัดตรีทศเทพฝั่งใต้ตัดตรงไปตามเขตโรงเรียนนายร้อยมัธยมด้านตะวันตก ออกคลองข้างวัดมกุฎกระษัตริยารามจดคลองผดุงกรุงเกษม ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอนางเลิ้ง
 
11. อำเภอบางขุนพรหม อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอสามเสน แต่ริมลำน้ำเจ้าพระยาไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ถึงคลองข้างวัดมกุฎกระษัตริยาราม ทิศตะวันออกต่ออำเภอนางเลิ้ง แต่คลองผดุงกรุงเกษมไปตามลำคลองข้างวัดมกุฎกระษัตริยารามฝั่งเหนือตรงไปตามเขตโรงเรียนนายร้อยมัธยมด้านตะวันตก ตัดไปตามคลองวัดตรีทศเทพ ฝั่งใต้ไปออกคลองบางลำภูบน ทิศใต้ต่ออำเภอชนะสงคราม แต่ปากคลองวัดตรีทศเทพไปตามลำคลองบางลำภูฝั่งบน ฝั่งใต้ถึงลำน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกต่ออำเภอบางพลัด แต่ปากคลองบางลำภูบนไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบางขุนพรหม
 
12. อำเภอสามเสน อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางซื่อ แต่ริมลำน้ำเจ้าพระยาเข้าไปตามลำคลองสามเสนฝั่งใต้ถึงปากคลองรางเงินฝั่งตะวันตก ทิศตะวันตกต่ออำเภอดุสิต แต่ปากคลองสามเสนเข้าไปตามลำคลองรางเงินฝั่งตะวันตกถึงถนนซางฮี้ เลี้ยวไปตามถนนซางฮี้นอกด้านใต้ถึงมุมกำแพงพระราชวังดุสิต เลี้ยวไปตามพระราชวังสวนดุสิตด้านตะวันตก ริมถนนสามเสนถึงถนนใบพร เลี้ยวไปตามถนนใบพรด้านเหนือถึงคลองเม่งเส็ง เลี้ยวไปตามคลองเม่งเส็งฝั่งตะวันตกออกคลองผดุงกรุงเกษม ทิศใต้ต่ออำเภอบางขุนพรหม แต่ปากคลองเม่งเส็งไปตามคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ถึงลำน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกต่ออำเภอบางพลัด แต่ปากคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองสามเสนฝั่งใต้ ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอสามเสน
 
13. อำเภอดุสิต อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางซื่อ แต่ปากคลองรางเงินฝั่งตะวันตก ไปตามลำคลองสามเสนฝั่งใต้ถึงทางรถไฟสายเหนือด้านตะวันตก ทิศตะวันออกต่ออำเภอพญาไทและอำเภอประแจจีน แต่คลองสามเสนไปตามทางรถไฟสายเหนือ ด้านตะวันตกถึงคลองบางกะปิ (คลองมหานาค) ทิศใต้ต่ออำเภอปทุมวันและอำเภอนางเลิ้ง แต่ทางรถไฟสายเหนือไปตามลำคลองบางกะปิ (คลองมหานาค) ฝั่งใต้ถึงสี่แยกมหานาค เลี้ยวขึ้นตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันตกไปถึงปากคลองเม่งเส็ง ทิศตะวันตกต่ออำเภอสามเสน แต่คลองผดุงกรุงเกษมเข้าไปตามลำคลองเม่งเส็งฝั่งตะวันตกถึงถนนใบพร เลี้ยวไปตามถนนใบพร ด้านเหนือถึงมุมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตริมถนนสามเสน เลี้ยวขึ้นริมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตริมถนนสามเสน เลี้ยวขึ้นริมกำแพงพระราชวังสวนดุสิตด้านตะวันตกถึงถนนซางฮี้นอก เลี้ยวตามถนนซางฮี้นอก ด้านใต้ไปถึงลำคลองรางเงิน เลี้ยวตามลำคลองรางเงินฝั่งตะวันตกถึงคลองสามเสน ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอดุสิต
 
14. อำเภอพญาไท อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางซื่อ แต่ทางรถไฟสายเหนือไปตามลำคลองสามเสนฝั่งใต้ถึงคลองบางกระสันฝั่งตะวันตก ทิศตะวันออกต่ออำเภอบางกะปิ แต่คลองสามเสนเข้าไปตามลำคลองบางกระสันฝั่งตะวันตกถึงทางรถไฟสายตะวันออก ทิศใต้ต่ออำเภอประแจจีน แต่คลองบางกระสันเข้าไปตามทางรถไฟสายตะวันออก ด้านเหนือถึงสะพานยมราช ทิศตะวันตกต่ออำเภอดุสิต แต่สะพานยมราชไปตามทางรถไฟสายเหนือด้านตะวันตกถึงคลองสามเสน ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอพญาไท
 
15. อำเภอประแจจีน อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอพญาไท แต่สะพานยมราชไปตามทางรถไฟสายตะวันออก ด้านเหนือตรงย่านถนนดวงตะวันถึงคลองบางกระสัน ทิศตะวันออกต่ออำเภอบางกะปิ แต่ทางรถไฟสายตะวันออกไปตามลำคลองบางกระสันฝั่งตะวันตกถึงคลองแสนแสบ ทิศใต้ต่ออำเภอปทุมวัน แต่ปากคลองบางกระสันมาตามลำคลองแสนแสบฝั่งใต้ถึงทางรถไฟสายเหนือ ทิศตะวันตกต่ออำเภอดุสิต แต่คลองบางกะปิ (คลองมหานาค) ไปตามทางรถไฟสายเหนือด้านตะวันตกถึงสะพานยมราช ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอประแจจีน
 
16. อำเภอปทุมวัน อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอดุสิต และอำเภอประแจจีนแต่สี่แยกมหานาคไปตามลำคลองแสนแสบฝั่งใต้ ถึงทางรถไฟไปช่องนนทรี ทิศตะวันออกต่ออำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง แต่คลองแสนแสบไปตามทางรถไฟสายช่องนนทรีด้านตะวันออกถึงคลองหัวลำโพง ทิศใต้ต่อเขตอำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง และอำเภอสาธร อำเภอบางรัก แต่ทางรถไฟสายช่องนนทรีไปตามลำคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงคลองผดุงกรุงเกษม ทิศตะวันตกต่ออำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ปากคลองหัวลำโพงไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันตกถึงสี่แยกมหานาค ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอปทุมวัน
 
17. อำเภอบางรัก อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอประทุมวัน แต่ปากคลองหัวลำโพง ไปตามลำคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงปากคลองสีลม ทิศใต้ต่ออำเภอสาธร แต่คลองหัวลำโพง ไปตามลำคลองสีลมฝั่งเหนือถึงคลองบางรัก เลี้ยวไปตามลำคลองบางรักฝั่งเหนือถึงลำน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกต่ออำเภอบุบผาราม แต่ปากคลองบางรักขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองผดุงกรุงเกษมไปตามลำคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งเหนือถึงปากคลองหัวลำโพงในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบางรัก
 
18. อำเภอสาธร อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางรักและอำเภอปทุมวัน แต่ปากคลองบางรักเข้าไปตามลำคลองบางรัก และคลองสีลมฝั่งเหนือถึงคลองหัวลำโพง เลี้ยวไปตามลำคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงหลักเขตต่ออำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง ทิศตะวันออกต่ออำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง แต่หลักเขตริมคลองหัวลำโพงตัดมาตามลำรางและคูตรงไปถึงปลายคลองขวางหรือคลองมหาเมฆ แล้วตัดข้ามตรงไปถึงคลองช่องนนทรี ทิศใต้ต่ออำเภอบ้านทวาย แต่หลักเขตริมคลองช่องนนทรี ไปตามลำคลองช่องนนทรีฝั่งใต้ถึงคลองสาธร เลี้ยวไปตามลำคลองสาธรฝั่งใต้ออกลำน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกต่ออำเภอบุบผาราม แต่ปากคลองสาธรขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ถึงปากคลองบางรัก ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอสาธร
 
19. อำเภอบ้านทวาย อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอสาธร แต่ปากคลองสาธรเข้าไปตามลำคลองสาธรฝั่งใต้ถึงคลองช่องนนทรี เลี้ยวไปตามลำคลองช่องนนทรีฝั่งใต้ถึงหลักเขตต่ออำเภอเมือง จังหวัดพระประแดง ทิศตะวันออกต่ออำเภอเมือง จังหวัดพระประแดง แต่หลักเขตริมคลองช่องนนทรีตัดไปตามลำรางและคันนาถึงคลองบางมะนาวเลียบตามลำคลองบางมะนาวฝั่งตะวันตกออกลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ต่ออำเภอราษฎร์บูรณะ แต่ปากคลองบางมะนาวฝั่งเหนือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงท่าถนนตก ทิศตะวันตกต่ออำเภอบุคโล แต่ท่าถนนตกไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองสาธรฝั่งใต้ ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบ้านทวาย
 
20. อำเภอบางพลัด อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี แต่ปลายคลองบางบำหรุไปจนเขตร์วัดเพลงด้านใต้ ตัดขึ้นไปตามลำรางและคันนาถึงปากคลองวัดละมุด ไปตามลำคลองวัดละมุดฝั่งเหนือออกลำน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกต่ออำเภอบางซื่อและอำเภอสามเสน อำเภอบางขุนพรหม กับอำเภอชนะสงคราม แต่ปากคลองบางซ่อนฝั่งใต้ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองโรงไหม ทิศใต้ต่ออำเภออมรินทร์แต่ปากคลองโรงไหมฝั่งใต้ ตัดข้ามฟากลำน้ำเจ้าพระยาไปตามลำคลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือถึงปากคลองบางบำหรุฝั่งตะวันออก ทิศตะวันตกต่ออำเภอตลิ่งชัน แต่คลองบางกอกน้อยปากคลองบางบำหรุไปตามลำคลองบางบำหรุ ฝั่งตะวันออกถึงเขตวัดเพลงด้านใต้ ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบางพลัด
 
21. อำเภออมรินทร อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภอตลิ่งชัน และอำเภอบางพลัดแต่สามแยกหน้าวัดสุวรรณคีรีไปตามลำคลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือออกลำน้ำเจ้าพระยา ตัดข้ามฟากไปถึงปากคลองโรงไหมฝั่งใต้ ตะวันออกต่ออำเภอพระราชวัง แต่ปากคลองโรงไหมฝั่งใต้ ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงตรงข้ามปากคลองมอญ ทิศใต้ต่ออำเภอหงษาราม แต่ตรงข้ามปากคลองมอญฝั่งเหนือถึงสี่แยกบางเสาธง ทิศตะวันตกต่ออำเภอตลิ่งชันแต่สี่แยกบางเสาธงไปตามลำคลองบางขุนศรีและคลองอ้อมชักพระฝั่งตะวันออกถึงสามแยกน่าวัดสุวรรณคีรี ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภออมรินทร์
 
22. อำเภอหงษาราม อำเภอนี้มีเขต คือ ทิศเหนือต่ออำเภออมรินทร์ แต่สี่แยกบางเสาธงไปตามลำคลองมอญฝั่งเหนือออกลำน้ำเจ้าพระยา ตัดข้ามฟากไปถึงตรงข้ามปากคลองมอญ ทิศตะวันออกต่ออำเภอพระราชวังแต่ตรงข้ามปากคลองมอญไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงตรงข้ามปากคลองบางกอกใหญ่ ทิศใต้ต่ออำเภอบุบผาราม อำเภอราชคฤห์ แต่ตรงข้ามปากคลองบางกอกใหญ่ไปตามลำคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือถึงสามแยกปากคลองด่าน ทิศตะวันตกต่ออำเภอภาษีเจริญ แต่สามแยกปากคลองด่านไปตามลำคลองวัดหนังหรือคลองอ้อมชักพระ ฝั่งตะวันออกถึงสี่แยกบางเสาธง ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอหงษาราม
 
23. อำเภอราชคฤห์ อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอหงษาราม แต่สามแยกปากคลองด่านไปตามลำคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือถึงปากคลองบางไส้ไก่ทิศตะวันออกต่ออำเภอบุบผาราม แต่ปากคลองบางไส้ไก่ไปตามลำคลองบางไส้ไก่ถึงทางรถไฟสายท่าจีน ทิศใต้ต่ออำเภอบุคโล อำเภอบางขุนเทียน แต่คลองบางไส้ไก่ไปตามทางรถไฟสายท่าจีนด้านใต้ถึงคลองบางสะแก ไปตามลำคลองบางสะแกฝั่งตะวันตกถึงลำกระโดงสวนไปตามลำคลองกระโดงสวนฝั่งเหนือถึงเขตร์วัดใหม่ยายนุ้ยด้านใต้ออกคลองด้านทิศตะวันตกต่ออำเภอบางขุนเทียน อำเภอภาษีเจริญ แต่เขตร์วัดใหม่ยายนุ้ยด้านใต้ไปตามลำคลองด่านฝั่งตะวันออก ถึงคลองบางกอกใหญ่สามแยก ปากคลองด่าน ในเขตร์นี้เป็นท้องที่อำเภอราชคฤห์
 
24. อำเภอบุบผาราม อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอพระราชวัง อำเภอพาหุรัด อำเภอจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ แต่ตรงข้ามปากคลองบางกอกใหญ่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงปากคลองผดุงกรุงเกษม ทิศตะวันออกต่ออำเภอบางรัก อำเภอสาธร อำเภอบ้านทวาย แต่ปากคลองผดุงกรุงเกษมลงไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกถึงตรงข้ามปากคลองบางไส้ไก่ ทิศใต้ต่ออำเภอบุคโลและอำเภอราชคฤห์ แต่ตรงข้ามปากคลองบางไส้ไก่ ตัดข้ามฟากลำน้ำเจ้าพระยาไปตามลำคลองบางไส้ไก่ ฝั่งใต้ถึงคลองบางกอกใหญ่ ทิศตะวันตกแต่อำเภอหงษาราม แต่ปากคลองบางไส้ไก่ไปตามลำคลองบางกอกใหญ่ฝั่งตะวันออกถึงตรงข้ามปากคลองบางกอกใหญ่ ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบุบผาราม
 
25. อำเภอบุคโล อำเภอนี้มีเขตร์ คือ ทิศเหนือต่ออำเภอบุบผาราม แต่คลองบางสะแก ไปตามทางรถไฟสายท่าจีนฝั่งใต้ ถึงคลองบางไส้ไก่ทิศตะวันออกต่ออำเภอบุบผาราม แต่ทางรถไฟสายท่าจีนไปตามลำคลองบางไส้ไก่ฝั่งใต้ออกลำน้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ต่ออำเภอบ้านทวายอำเภอราษฎร์บูรณะ แต่ตรงข้ามปากคลองบางไส้ไก่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกถึงตรงข้ามปากคลองดาวคนอง ตัดข้ามฟากลำน้ำเจ้าพระยาไปตามลำคลองดาวคนองฝั่งเหนือ ถึงปากคลองบางค้อทิศตะวันตกต่ออำเภอบางขุนเทียนและอำเภอราชคฤห์ แต่คลองดาวคนองปากคลองบางค้อไปถึงคลองบางสะแกไปตามลำคลองบางสะแกฝั่งตะวันตกถึงทางรถไฟสายท่าจีน ในเขตนี้เป็นท้องที่อำเภอบุคโล”
 ส่วนอำเภอชั้นนอก 8 อำเภอนั้น ยังคงตามเดิม
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2458 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเขตการปกครองมณฑลกรุงเทพมหานครเสียใหม่ ให้เหมาะแก่ความเจริญของบ้านเมืองที่ขยายตัวออกไป โดยให้ยกเลิกมณฑลกรุงเทพพระมหานครเสีย ให้เมืองธัญญะบุรีและเมืองปทุมธานีไปสมทบเป็นหัวเมืองขึ้นของกระทรวงมหาดไทย ส่วนที่เหลือนั้นให้มีฐานะเป็น “กรุงเทพพระมหานคร” ดังปรากฏความในมาตรา 3 แห่ง “ประกาศขยายเขตกรุงเทพพระมหานคร” ดังนี้ (สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)
“มาตรา 3 ให้แบ่งเขตกรุงเทพพระมหานครออกเป็นจังหวัด ดังนี้คือ
 กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกลำน้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดพระนคร
 กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกลำน้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดธนบุรี
 แบ่งรอบนอกเป็นจังหวัดนนทบุรี จังหวัดมีนบุรี จังหวัดพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ”
ทั้งหมดทุกจังหวัดนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกระทรวงนครบาลเช่นเดิม ตำแหน่งผู้ปกครอง
เมืองให้เรียกนครบาลจังหวัด และสำหรับจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีนั้น ให้มหาอำมาตย์ตรีพระยาเพ็ชรปาณี อธิบดีกรมพระนครบาล ปฏิบัติหน้าที่นครบาลจังหวัดด้วย
เขตของกรุงเทพพระมหานครขณะนั้น ปรากฏดังนี้
 
ทิศเหนือ ติดต่อกับมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา)
 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับมณฑลปราจีนบุรี
 
ทิศใต้ ปกครองอ่าวทะเลตลอดเขตอำนาจกฎหมาย
 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับมณฑลนครไชยศรี
“ประกาศขอบเขตกรุงเทพพระมหานคร” นี้ นับเป็นครั้งแรกที่แบ่งกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็นจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เฉพาะเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีนั้น มีความละเอียดปรากฏใน “ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง กำหนดเขตท้องที่การปกครองกรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2458 ซึ่งลงนามโดยมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ดังนี้
 
1. จังหวัดพระนคร รวมท้องที่ อำเภอพระราชวัง อำเภอสำราญราษฏร์ อำเภอพาหุรัด อำเภอชนะสงคราม อำเภอสามยอด อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงษ์ อำเภอสามแยก อำเภอบ้านทวาย อำเภอบางรัก อำเภอสาธร อำเภอบางขุนพรหม อำเภอสามเสน อำเภอดุสิต อำเภอนางเลิ้ง อำเภอประแจจีน อำเภอพญาไท อำเภอประทุมวัน อำเภอบางซื่อ อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ มีอาณาเขตร์ ดังนี้ี
 
ทิศเหนือต่อจังหวัดนนทบุรีและเมืองธัญญะบุรี ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตวันออกไปตามลำคลองบางเขนฝั่งใต้ถึงคลองเปรมประชากร เลี้ยวไปตามคลองเปรมประชากรฝั่งตวันออกถึงตรงสถานีรถไฟหลักหก แล้วตัดตรงไปคลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือถึงคลองซอยที่ 4 เปนเขตร์ด้านเหนือ
 
ทิศตะวันออกต่อจังหวัดมีนบุรี แต่คลองซอยที่ 4 ตัดตรงไปตามคลองลำเตาปูน คลองลาดบัวขาวถึงลำหลอแหล เปนเขตร์ด้านตวันออก
 
ทิศใต้ต่อจังหวัดพระประแดงแต่คลองลาดบัวขาวไปตามลำหลอแหลลำบ้านม้า คลองบางกะจะฝั่งเหนือถึงคลองแสนแสบ เลี้ยวไปตามลำคลองแสนแสบฝั่งใต้ถึงการรถไฟสายช่องนนทรี เลี้ยวไปตามทางรถไฟสายช่องนนทรีด้านตวันออกถึงคลองหัวลำโพง เลี้ยวไปตามคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงหลักเขตร์พรมแดนระหว่างจังหวัดพระนครกับจังหวัดพระประแดงเลี้ยวไปตามลำรางตัดเส้นตรงจนถึงคลองบางมะนาวไปตามลำคลองบางมะนาว ฝั่งตวันออกลำน้ำเจ้าพระยา เปนเขตร์ด้านใต้ี
 
ทิศตะวันตกต่อจังหวัดธนบุรี แต่ปากคลองบางมะนาวเลียบขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตวันออกถึงปากคลองบางเขนฝั่งใต้ เปนเขตด้านตวันตก ในเขตร์นี้เปนจังหวัดพระนครี
 
2. จังหวัดธนบุรีรวมท้องที่อำเภอหงษาราม อำเภออมรินทร์ อำเภอบางพลัด อำเภอราชคฤห์
อำเภอบุบผาราม อำเภอบุคโล อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอหนองแขม มีอาณาเขตร์ ดังนี้ี้ี
 
ทิศเหนือต่อจังหวัดนนทุบรี แต่สี่แยกคลองนราภิรมย์ไปตามลำคลองมหาสวัสดิ์ ฝั่งใต้ถึงโรงพักพลตระเวน เลี้ยวตัดขึ้นบกตรงไปถึงคลองสวนแดนไปตามลำคลองสวนแดน ฝั่งใต้ออกคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขึ้นไปตามลำคลองบางกอกน้อยฝั่งตวันตกถึงตรงปากคลองวัดพิกุล ตัดข้ามฟากคลองบางกอกน้อยไปตามลำคลองวัดพิกุลฝั่งใต้จนถึงคลองบางตำหรุเลี้ยวไปตามลำคลองบางตำหรุฝั่งตวันออกจนถึงเขตร์วัดเพลงด้านใต้ ตัดเส้นตรงไปปลายคลองวัดละมุดไปตามลำคลองวัดละมุดฝั่งเหนือออกลำน้ำเจ้าพระยา ตัดตรงข้ามไปฝั่งตวันออกลำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากคลองบางซ่อนฝั่งใต้ เปนเขตร์ด้านเหนือ
 
ทิศตวันออกต่อจังหวัดพระนครและจังหวัดพระประแดง แต่ปากคลองบางซ่อนฝั่งใต้ลงไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตวันออกจนถึงคลองบางมะนาวฝั่งเหนือตัดตรงข้ามลำน้ำเจ้าพระยาไปฝั่งตวันตกเลี้ยวไปถึงปากคลองแจงร้อน เลี้ยวเข้าคลองแจงร้อนไปตามลำคลองบางผึ้งฝั่งตวันออก ตัดเส้นตรงไปปลายคลองขุดเจ้าเมืองไปตามคลองขุดเจ้าเมืองแลคลองขวางฝั่งตะวันออกถึงคลองบางจาก เปนเขตร์ด้านตวันออก
 
ทิศใต้ต่อจังหวัดสมุทรปราการแลเขตร์มณฑลนครไชยศรี แต่คลองขวางไปตามลำคลองบางจากฝั่งเหนือถึงคลองหัวกระบือ เลี้ยวไปตามลำคลองหัวกระบือฝั่งตวันออกถึงคลองมหาไชย เลี้ยวไปตามลำคลองมหาไชยฝั่งเหนือจนถึงคลองแสมดำ เปนเขตร์ด้านใต้
 
ทิศตวันตกต่อเขตร์มณฑลนครไชยศรี แต่คลองมหาไชยไปตามลำคลองแสมดำ ฝั่งตวันออกตรงถึงวัดหนองแขมเขตร์ด้านตวันตกตัดเส้นตรงไปถึงสี่แยกคลองนราภิรมย์แลคลองมหาสวัสดิ์ เปนเขตร์ด้านตวันตก ในเขตร์นี้เปนจังหวัดธนบุรีี
 
1. จังหวัดพระนคร รวมท้องที่ อำเภอพระราชวัง อำเภอสำราญราษฏร์ อำเภอพาหุรัด อำเภอชนะสงคราม อำเภอสามยอด อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงษ์ อำเภอสามแยก อำเภอบ้านทวาย อำเภอบางรัก อำเภอสาธร อำเภอบางขุนพรหม อำเภอสามเสน อำเภอดุสิต อำเภอนางเลิ้ง อำเภอประแจจีน อำเภอพญาไท อำเภอประทุมวัน อำเภอบางซื่อ อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ มีอาณาเขตร์ ดังนี้ี
 
ทิศเหนือต่อจังหวัดนนทบุรีและเมืองธัญญะบุรี ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตวันออกไปตามลำคลองบางเขนฝั่งใต้ถึงคลองเปรมประชากร เลี้ยวไปตามคลองเปรมประชากรฝั่งตวันออกถึงตรงสถานีรถไฟหลักหก แล้วตัดตรงไปคลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือถึงคลองซอยที่ 4 เปนเขตร์ด้านเหนือ
 
ทิศตะวันออกต่อจังหวัดมีนบุรี แต่คลองซอยที่ 4 ตัดตรงไปตามคลองลำเตาปูน คลองลาดบัวขาวถึงลำหลอแหล เปนเขตร์ด้านตวันออก
 
ทิศใต้ต่อจังหวัดพระประแดงแต่คลองลาดบัวขาวไปตามลำหลอแหลลำบ้านม้า คลองบางกะจะฝั่งเหนือถึงคลองแสนแสบ เลี้ยวไปตามลำคลองแสนแสบฝั่งใต้ถึงการรถไฟสายช่องนนทรี เลี้ยวไปตามทางรถไฟสายช่องนนทรีด้านตวันออกถึงคลองหัวลำโพง เลี้ยวไปตามคลองหัวลำโพงฝั่งใต้ถึงหลักเขตร์พรมแดนระหว่างจังหวัดพระนครกับจังหวัดพระประแดงเลี้ยวไปตามลำรางตัดเส้นตรงจนถึงคลองบางมะนาวไปตามลำคลองบางมะนาว ฝั่งตวันออกลำน้ำเจ้าพระยา เปนเขตร์ด้านใต้ี
 
ทิศตะวันตกต่อจังหวัดธนบุรี แต่ปากคลองบางมะนาวเลียบขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตวันออกถึงปากคลองบางเขนฝั่งใต้ เปนเขตด้านตวันตก ในเขตร์นี้เปนจังหวัดพระนครี
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2465 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฏเกล้า
เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย แต่กรุงเทพพระมหานครก็ยังมีพื้นที่และฐานะอยู่อย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพบ้านเมืองมีลักษณะคล้ายคลึงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเพิ่มเติมอีกหลายสาย ส่วนใหญ่เป็นการตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ถนนต่าง ๆ ที่ตัดขึ้นใหม่มีดังนี้
ตัดถนในบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ตำบลวัดดวงแข จำนวน 3 สายคือ
 
สายที่ 1 ต่อจากถนนที่ตัดไว้เดิมในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปบรรจบกับถนนรองเมือง พระราชทานนามว่า ถนนเจริญเมือง
 
สายที่ 2 ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ไปบรรจบกับถนนสายที่ 3 ตอนกลาง พระราชทานนามว่า ถนนจารุเมือง
 
สายที่ 3 ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ไปบรรจบกับถนนรองเมือง พระราชทานนามว่า ถนนจรัสเมือง ตัดถนนในตำบลมหาพฤฒาราม ตั้งแต่สะพานพิทยเสถียรขึ้นไปทางเหนือตามริมคลองผดุงกรุงเกษมไปหักออกทางตะวันออกเฉียงเหนือไปบรรจบถนนพระรามที่ 4 ตรงหน้าลานสถานีรถไฟกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า ถนนมหาพฤฒาราม
ตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์ ต่อจากที่ตัดไว้เดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบสี่แยกวงเวียนถนนสามเสน ตำบลบางขุนพรหม โดยให้ทำต่อตั้งแต่ถนนสามเสนตอนสี่แยกบางขุนพรหมไปออกถนนราชดำเนินนอกตรงกับถนนจักรพรรดิพงศ์
ตัดถนนซอยจากถนนสุริยวงศ์ (สุรวงศ์) ไปออกคลองสีลม 3 สาย คือ
 
สายที่ 1 ตั้งแต่ถนนสุริยวงศ์ไปออกคลองสีลมตรงถนนสุรศักดิ์ข้ามพระราชทานนามว่า ถนนมเหสักข์
 
สายที่ 2 ตั้งแต่ถนนสุริยวงศ์ไปออกคลองสีลมตรงถนนประมวญข้ามพระราชทานนามว่า ถนนปราโมทย์
 
สายที่ 3 ตั้งแต่ถนนสุริยวงศ์ไปออกคลองสีลมตรงถนนปั้นข้ามพระราชทานนามว่า ถนนประดิษฐ์
ตัดถนนต่อจากถนนสุริยวงศ์ (สุรวงศ์) ตอนร่วมถนนเจริญกรุงถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชทานนามว่า ถนนท่าขนอน
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ ตำบลสี่แยกมหานาคตอนริมถนนกรุงเกษม ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 7 สาย
ตัดถนนในท้องที่ตำบลปทุมคงคา จำนวน 9 สาย
ตัดถนนในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ระหว่างถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนปทุมคงคา จำนวน 4 สาย
สร้างถนนต่อจากถนนเพลินจิตไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ
สร้างถนนตั้งแต่ถนนถนนพระรามที่ 5 ข้ามคลองบางซื่อถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางขวาง พระราชทานนามว่า ถนนประชาราษฏร์
การตัดขยายถนนในกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นเหตุให้กำแพงพระนครและป้อมปืนซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องถูกรื้อทำลายไปมาก ปรากฏว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุที่ปากคลองรอบกรุง (คลองบางลำภู) และป้อมมหากาฬเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กับทั้งกำแพงพระนครซึ่งติดต่อกับป้อมมหากาฬไปจนถึงคลองหลอดระหว่างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา ราชบัณฑิตยสภาในสมัยนั้นจึงได้มีมติให้บำรุงรักษาไว้เพื่อประโยชน์ความรู้ทางโบราณคดีต่อไปซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของราชบัณฑิตยสภา ป้อมดังกล่าวจึงคงมีปรากฏมาจนปัจจุบัน
การปกครองกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงอำเภอในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรีอีกครั้งหนึ่ง โดยจังหวัดพระนครแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ จังหวัดธนบุรีแบ่งออกเป็น 6 อำเภอ
นายถัด พรหมมาณพ ได้เขียนไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ (ความจริงในปีพุทธศักราช 2474 ซึ่งหนังสือนี้ตีพิมพ์ กรุงเทพพระมหานครมิใช่มณฑลแล้ว) กล่าวถึงเขตท้องที่อำเภอต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สำคัญในแต่ละอำเภอ อันทำให้มองเห็นลักษณะความเจริญของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2474 ไว้อย่างแจ่มชัด ดังนี้
1. อำเภอจังหวัดพระนคร
(ก) อำเภอชั้นใน 8 อำเภอ คือ :
 
(1) อำเภอพระนคร ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ข้างวัดชะนะสงคราม ถนนจักรพงศ์ เยื้องกับสถานีตำรวจพระนครบาลชะนะสงคราม แบ่งเป็นตำบล 43 ตำบล พลเมืองมีราว 78,895 คน อำเภอนี้ท้องที่อยู่ภายในเขตต์กำแพงพระนคร แขวงพระนครกลาง มีพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นมาก บ้านเรือนเป็นตึกและมีถนนมาก ตามริมถนนมีตึกแถวและบ้านเรือนเต็มไปทั้งนั้น ไม่มีที่ว่างเปล่าเลย สถานที่สำคัญและวัดที่สำคัญอยู่ในอำเภอนี้มาก เป็นที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง วัดสำคัญ และกระทรวงต่าง ๆ ทั้งสิ้น
 
(2) อำเภอนางเลิ้ง ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่สามแยกถนนหลานหลวงกับถนนพะเนียง ตำบลสนามกระบือ หน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แบ่งเป็น 20 ตำบล มีพลเมืองราว 29,264 คน ท้องที่อำเภอนี้ต่อจากอำเภอพระนคร ทางด้านเหนือมีคลองบางลำพูขั้น
ทิศเหนือและทิศตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษมอยู่ในแขวงจังหวัดพระนครเหนือพลเมืองอยู่มากเหมือนกันมีถนนน้อย
 
(3) อำเภอดุสิต ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองเปรมประชากร ถนนสุโขทัย ติดต่อกับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทางด้านเหนือ แบ่งเป็นตำบล 26 ตำบล มีพลเมืองราว 33,582 คน เนื้อที่กว้างมากแต่มีพลเมืองน้อย มีถนนสายต่าง ๆ มากและรื่นรมย์ดี มีต้นไม้งาม ๆ ตามข้างถนน และโดยมากมีบ้านที่ดี ๆ และเป็นที่ ๆ มีวังเจ้านายอยู่มาก เว้นไว้แต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีคนหนาแน่น มีวัดและสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป อำเภอนี้มีที่ว่างอยู่ทางตะวันออกมาก พลเมืองจึงได้สร้างบ้านเรือนขยายความกว้างของพระนครออกไปเสมอทุกปี อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครเหนือเหมือนกัน
 
(4) อำเภอสัมพันธวงศ์ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ป้อมปัจจนึก ตำบลวัดกะละหว่า ตรอกกรมเจ้าท่าและธนาคารสยามกัมมาจล ตรงข้ามกับโรงน้ำแข็ง บี.เอม.ซี. แบ่งท้องที่เป็นตำบล 38 ตำบล มีพลเมืองราว 67,714 คน ทิศตะวันตกจดเขตต์คูคลองพระนคร ด้านใต้จนถึงสะพานดำรงสถิตย์ ทิศเหนือจดถนนเจริญกรุงเป็นเขตต์เรื่อยลงไปจนถึงสามแยกหน้าสถานีตำรวจพระนครบาลสามแยก แล้วต่อไปตามถนนพระราม 4 เป็นเขตต์จนถึงสะพานเจริญสวัสดิ์ ตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเขตต์ด้านใต้จดแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอนี้มีพลเมืองอยู่หนาแน่นมาก มีสถานที่สำคัญและเป็นทำเลการค้าขายเป็นพื้น ถนนสำเพ็ง เยาวราช และราชวงศ์ ซึ่งเป็นถนนที่มีการค้าขายมากก็อยู่ในอำเภอนี้ และพลเมืองส่วนมากเป็นจีน บ้านเรือนเป็นตึก ริมถนนเยาวราชมีตึกงาม ๆ และสูงถึง 9 ชั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นท่าเรือ มีเรือสำเภาจีน เรือโปะ เรือกลไฟเดิรภายในหัวเมือง ริมทะเลในอ่าวสยาม มาจอดเทียบท่าในท้องที่อำเภอนี้ทั้งสิ้น ปลาทะเลที่จับได้จากปากน้ำจังหวัดสมุทรปราการพวกเรือโปะโดยมากไม่บรรทุกรถไฟ จ้างเรือกลไฟลากมาจำหน่ายเอง และเทียบท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้ อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้
 
(5) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ถนนหลวง หลังวัดเทพศิรินทร์ แบ่งท้องที่ออกเป็น 22 ตำบล มีพลเมืองราว 58,339 คน มีอาณาเขตต์ติดต่อคือ ตะวันตกต่อจากคลองคูพระนคร ตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษม ทิศใต้จดถนนเจริญกรุงและถนนพระราม 4 ต่อกับอำเภอสัมพันธวงศ์ และทิศเหนือจดคลองมหานาคติดต่อกับอำเภอนางเลิ้ง อำเภอนี้มีพลเมืองอาศัยอยู่มากเหมือนกัน มีทำเลการค้าขายมาก มีถนนหลายสาย ริมถนนบางถนนมีตึก บางถนนเป็นบ้านและห้องแถวให้เช่า ยังมีที่ว่างอยู่มาก มีวัดและสถานที่สำคัญอยู่หลายแห่ง อำเภอนี้อยู่แขวงจังหวัดพระนครใต้เหมือนกัน
 
(6) อำเภอบางรัก ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ถนนนเรศ ซึ่งเป็นถนนซอยระหว่างถนนสี่พระยากับถนนสุริวงศ์ ใกล้ ๆ กับสถานีตำรวจนครบาลบางรัก แบ่งท้องที่อำเภอเป็น 26 ตำบล มีพลเมืองราว 49,973 คน เขตต์ท้องที่อำเภอนี้คือ ทิศตะวันตกติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองผดุงกรุงเกษม แต่สะพานเจริญสวัสดิ์จนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ทางทิศเหนือต่อจากแนวทางรถไฟสายปากน้ำและคลองหัวลำโพง ทางทิศใต้จดคลองถนนสาทรมีพื้นที่เกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม อำเภอนี้แถบบริเวณถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของธนาคาร บริษัทประกันภัย สำนักงานห้างใหญ่ ๆ ที่ไว้สินค้า โรงภาษีและที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง นอกจากนี้มีถนนที่ซอยต่อระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนพระราม 4 สี่สาย คือ ถนนสี่พระยา , สุริย์วงศ์ , สีลม และถนนสาทร และระหว่างถนนซอยเหล่านี้ยังมีถนนซอยเล็ก ๆ อีกมากมาย ตามริมถนนที่กล่าวมานี้มีบ้านงาม ๆ ของคนไทยและชาวต่างประเทศอาศัยอยู่มาก มีคนชาติฝรั่งต่าง ๆ เช่าบ้านตามริมถนนเหล่านี้อยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ และในท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของสถานทูตต่างประเทศหลายชาติดังจะกล่าวต่อไป อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้
 
(7) อำเภอประทุมวัน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่สี่แยกถนนพระราม 1 กับถนนพญาไทยผ่านกัน ตำบลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งท้องที่เป็นตำบล 17 ตำบล มีพลเมืองราว 46,902 คน มี อาณาเขตต์ติดต่อคือ ทางทิศตะวันตกจดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่สะพานเจริญสวัสดิ์ถึงสี่แยกคลอง มหานาค ทางทิศเหนือจดคลองมหานาค ทิศใต้จดแนวรถไฟสายปากน้ำ และทางทิศตะวันออกจดแนวทางรถไฟสายแม่น้ำ (ช่องนนทรี) อำเภอนี้ตอนริมคลองผดุงกรุงเกษมเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟกรุงเทพฯ และบริเวณกรมรถไฟหลวงและต่อลงมาจากบริเวณสถานีตลอดจนถึงทุ่งทางรถไฟสายแม่น้ำ (ช่องนนทรี) มีบ้านงาม ๆ และตามข้างถนนมีสถานที่ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สถานเสาวภา , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , สถานทูตต่างประเทศและบ้านฝรั่งชาติต่าง ๆ อยู่มาก สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ด้วยแห่ง 1 ถนนที่จะทำต่อไปจังหวัดสมุทรปราการก็ต่อจากถนนเพลินจิตร์ (พระราม 1) ในอำเภอนี้ และความขยายตัวของพระนครก็ขยายออกไปทางอำเภอนี้มากเพราะพลเมืองได้ปลูกบ้านงาม ๆ ตามทุ่งทางรถไฟสายแม่น้ำมากขึ้นเสมอ อำเภอนี้อยู่ในเขตต์จังหวัดพระนครใต้เหมือนกัน
 
(8) อำเภอบ้านทะวาย ที่ว่าการอำเภอตั้งที่เชิงสะพานถนนสาทร ถนนเจริญกรุง แบ่งท้องที่เป็นตำบล 20 ตำบล มีพลเมืองราว 45,388 คน มีอาณาเขตต์ติดต่อกันคือ ทิศเหนือติดต่อกับคลองสาทร ทิศใต้ติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อจากทุ่งมหาเมฆ ตามทางรถไฟสายแม่น้ำ ทิศตะวันตกติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกติดต่อกับคลองหัวลำโพง (คลองเตย) อำเภอนี้มีพลเมืองน้อย ตอนที่นับว่าสำคัญคือตอนถนนสาทร และระหว่างถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะตอนนี้เป็นท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งเป็นท่าเรือเดิรติดต่อกับต่างประเทศทั้งสิ้น และมีอู่เรือที่สำคัญด้วย นอกจากนี้มีโรงเลื่อยจักรและโรงสีไฟที่ใหญ่ ๆ ที่เป็นท่าเรือคือ ท่าเรือห้างบอเนียว , อีสเอเซียติก , แองโกลสยาม , โรงเลื่อยของห้างอีสเอเซียติก , อู่บางกอกด๊อก เป็นต้น ท้องที่นอกจากนี้เป็นสวนผลไม้ต่าง ๆ และที่นา อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้
ท้องที่ทั้ง 3 แขวงของจังหวัดพระนคร เมื่อเทียบเคียงความสำคัญในทางการค้าขายแล้ว จังหวัดพระนครใต้สำคัญที่สุด เพราะเป็นทำเลที่มีการค้าขาย เป็นที่อยู่ของพ่อค้าและฝรั่งชาติต่างๆ ก็อยู่ในจังหวัดพระนครใต้มาก สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โรงพยาบาลที่สำคัญ , ธนาคาร , สถานทูตต่างประเทศ , ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง , ท่าเรืออยู่ในเขตต์จังหวัดพระนครใต้ทั้งสิ้น และมีเนื้อที่มากกว่าทั้ง 2 แขวงรวมกัน จังหวัดพระนครกลางสำคัญที่สุดในการที่เป็นที่ตั้งของกระทรวงต่าง ๆ พระบรมมหาราชวัง มีวัดงาม ๆ และเป็นพระนครเดิม จังหวัดพระนครเหนือสำคัญที่สุดในการที่มีพระที่นั่งงดงาม และวังเจ้านายอยู่มาก
(ข) อำเภอชั้นนอก จังหวัดพระนคร 4 อำเภอ คือ :
 
(1) อำเภอบางซื่อ ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ริมสถานีรถไฟหลวงบางซื่อ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 6 ตำบล มีพลเมืองราว 36,290 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีอาณาเขตต์ต่อจากอำเภอดุสิตขึ้นไปทางทิศเหนือ ท้องที่อำเภอนี้มีพลเมืองน้อย กรมทหารม้า , ทหารปืนใหญ่ , ทหารราบ , สื่อสาร , มีโรงงานกรมช่างแสงทหารบก , โรงงานทำเครื่องประกอบเครื่องบินของกรมอากาศยาน , โรงปูนซิเมนท์ และที่ทำน้ำประปาก็อยู่ในอำเภอนี้ ท้องที่อำเภอนี้มีท้องนาทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ มีพลเมืองออกไปทำไร่ผักและสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเสมอ เป็นอำเภอหนึ่งที่ขยายตัวแห่งพระนครให้กว้างขวางออกไปเหมือนกัน
 
2) อำเภอบางเขน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ข้างวัดบางเขน ใกล้กับตลาดบางเขน ไปจากพระนครได้โดยทางรถไฟสายเหนือ ลงที่สถานีบางเขน แบ่งท้องที่เป็นตำบล 5 ตำบล มีพลเมืองราว 10,905 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้านอาณาเขตต์ทางทิศใต้ติดต่อกับอำเภอบางซื่อ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดมีนบุรี และทางทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดธัญญะบุรี มณฑลอยุธยาท้องที่อำเภอนี้เป็นท้องนาทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ริมทางรถไฟมีไร่ผักอยู่บ้าง ที่ดอนเมืองเป็นที่ตั้งกรมอากาศยานทหารบก มีสนามบินที่ดี มีโรงเรียนฝึกหัดการบินเบื้องต้น มีโรงไว้เครื่องบิน ที่หลักสี่มีสถานีวิทยุของกรมไปรษณีย์โทรเลขขนาดใหญ่เปิดใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2473 ที่บางเขนมีตลาดขายของและเป็นตลาดขายเข้า มีของเบ็ดเตล็ดต่างๆ ขายรูปร่างตลาดคล้าย ๆ ตลาดบางบัวทอง หรือตลาดจังหวัดมีนบุรี หรือตลาดดอนเมือง ที่ปากคลองบางเขนที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตลาดผลไม้ที่มาจากสวนเรียกว่า ตำบลตลาดแก้ว
 
(3) อำเภอบางกะปิ ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองแสนแสบฝั่งเหนือ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 9 ตำบล มีพลเมืองราว 18,664 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน อาณาเขตต์อยู่ทางภาคตะวันออกแห่งพระนคร มีเขตต์ติดต่อกับจังหวัดมีนบุรี ท้องที่อำเภอนี้เป็นที่นาทั้งสิ้น จากพระนครจะไปอำเภอนี้ได้โดยทางเรือ ไปลงเรือที่เชิงสะพานเฉลิมโลก มีเรือเดิรไปมาประจำอยู่เสมอ
 (4) อำเภอพระโขนง ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ข้างวัดสะพานริมสถานีรถไฟพระโขนง ริมทางรถไฟสายปากน้ำ แบ่งท้องที่เป็น 11 ตำบล มีพลเมืองราว 28,042 คน ท้องที่เป็นที่สวนตอนริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้เป็นที่นาทั้งสิ้นอยู่พระนครจะไปอำเภอนี้ ไปได้โดยรถไฟสายปากน้ำ
2. อำเภอจังหวัดธนบุร ี(พลเมืองสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2472 มีราว 177,989 คน)
(ก) อำเภอชั้นใน 6 อำเภอ คือ :
 
(1) อำเภอบางพลัด ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดอาวุธวิกสิตาราม ปากคลองบางพลัด ตรงข้ามกับโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน แบ่งท้องที่เป็นตำบล 18 ตำบล มีพลเมืองราว 15,238 คน อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือ อาณาเขตต์ตามคลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือ ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือจดอำเภอตลิ่งชัน และอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตะวันออกตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอนี้ไม่มีถนน มีทางหลวงเล็ก ๆ ตัดเลาะไปตามบ้านและสวนผลไม้ต่าง ๆ ส่วนหนึ่งของบางบำหรุซึ่งขึ้นชื่อว่ามีสัปปะรดมาก และบางยี่ขันขึ้นชื่อเรื่องเงาะอยู่ในท้องที่อำเภอนี้ สถานีต้นทางรถไฟสายบางบัวทองก็ตั้งต้นจากริมวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม (บน) ในอำเภอนี้เหมือนกัน ท้องที่หาที่ว่างไม่ค่อยมี เต็มไปด้วยสวนผลไม้ทั้งนั้น
 
(2) อำเภอบางกอกน้อย ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งที่วัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ริมคลองบางกอกน้อยตำบลตลาดบ้านบุอาณาเขตต์ทางทิศเหนือตามคลองบางกอกน้อย ทิศตะวันตกจดอำเภอตลิ่งชัน ตะวันออกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้จดอำเภอบางกอกใหญ่ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 19 ตำบล มีพลเมืองราว 20,769 คน ในอำเภอนี้มีแนวถนน (แต่รถเดิรไม่ได้) ตั้งแต่คลองมอญหลังกระทรวงทหารเรือตลอดมาจนผ่านหลังโรงพยาบาลศิริราช ริมถนนนี้มีตลาดสำคัญเรียกว่า ตลาดบ้านขมิ้น ท้องที่อำเภอนี้มีสวนและที่ว่างเปล่ามาก และเป็นอำเภอที่มีสถานที่สำคัญ เช่น เป็นที่ตั้งกระทรวงทหารเรือ , โรงพยาบาลศิริราช และสถานีรถไฟบางกอกน้อย ตำบลบางขุนนนท์เป็นที่กรมเพาะปลูกสร้างตัวอย่างสวน มีพรรณรุกข์ชาติต่าง ๆ ปลูกทดลองไว้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร และนอกจากนี้ตำบลนี้ขึ้นชื่อในการที่มีทุเรียนชนิดดีด้วย อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือเหมือนกัน
 
(3) อำเภอบางกอกใหญ่ ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งที่ข้างหน้าวัดหงสรัตนาราม ริมคลองบางกอกใหญ่ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 15 ตำบล มีพลเมืองราว 13,730 คน อาณาเขตต์ทางคลองบางกอกใหญ่ขึ้นไปทางเหนือจดแนวคลองมอญ บรรจบคลองบางกอกน้อยที่คลองเสาบางเสาธงกับคลองบางเชือกหนังติดกับแม่น้ำเดิม ท้องที่อำเภอนี้ไม่มีถนนดีเลย มีแต่ทางเดิรเท่านั้น มีสวนและที่ว่างอยู่มาก มีวัดและสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งบัดนี้เป็นโรงเรียนนายทหารเรือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และพระพุทธปรางค์ , ป้อมวิชัยประสิทธิ์ปากคลองบางกอกใหญ่ เป็นต้น ที่ตำบลเจริญพาศน์มีสะพานคอนกรีตข้ามคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมทางคมนาคมทางบกระหว่างจังหวัดธนบุรีเหนือกับจังหวัดธนบุรีใต้ ท้องที่อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือ
 
(4) อำเภอคลองสาน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดทองนพคุณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวัดปทุมคงคาทางฝั่งพระนคร แบ่งท้องที่เป็นตำบลทั้งสิ้น 17 ตำบล มีพลเมืองราว 24,445 คน อาณาเขตต์ทิศเหนือนับจากปากคลองบางกอกใหญ่จนปากคลองบางไส้ไก่ลงมาทางใต้ ทิศตะวันตกตามแนวคลองบางไส้ไก่วกมาทิศใต้ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตะวันออกติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ภูมิประเทศอำเภอนี้ตอนเหนือมีบ้านขุนนางข้าราชการงดงามหลายแห่ง เมื่อการตัดถนนในจังหวัดธนบุรีเสร็จแล้ว ท้องที่อำเภอนี้จะเจริญมากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ที่สร้างเชื่อมพระนครกับธนบุรีก็สร้างในท้องที่อำเภอนี้ นอกจากนี้ยังมีวัดและสิ่งสำคัญหลายอย่าง เช่น วัดกัลยาณมิตร , วัดพิชัยญาติ , วัดประยูรวงศ์ , โบสถ์ฝรั่ง (กุฎีจีน) และเสาธงสัญญาณที่ป้อมป้องปัจจามิตร์ที่ปากคลองสาน โรงพยาบาลโรคจิตร์ที่ตำบลปากคลองสานก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ ตอนใต้หลังบ้านต่อจากลำแม่น้ำออกไปมีสวนผลไม้ต่าง ๆ ริมแม่น้ำ มีบ้านงาม ๆ โรงเลื่อยโรงสีเป็นอันมาก มีเรือสินค้ามาจอดบรรทุกเข้าสารอยู่เสมอ สถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ข้างปากคลองสานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับคลองผดุงกรุงเกษม หรือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้
 
5) อำเภอบุคคโล ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หลังวัดบุคคโล ตำบลบุคคโล แบ่งท้องที่เป็นตำบล 10 ตำบล มีพลเมืองราว 10,475 คน อาณาเขตต์ต่ออำเภอคลองสานลงไปทางใต้จนจดคลองบางปะแก้ว จดเขตต์จังหวัดพระประแดง ท้องที่อำเภอนี้มีสวนทั่วไปไม่มีถนน มีทางเดิรไปตามขนัดสวนต่อเนื่องจากอำเภอคลองสาน ตอนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโรงสีไฟใหญ่ ๆ หลายโรง และมีท่าเรือสำหรับเรือสินค้าที่มาบรรทุกข้าวสารจอด อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้
 
(6) อำเภอบางยี่เรือ ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือเหนือ) ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 5 ตำบล มีพลเมืองราว 15,936 คน อาณาเขตต์ต่ออำเภอคลองสานไปทางตะวันตกตามแนวคลองบางไส้ไก่ ทางใต้จดกับอาณาเขตต์อำเภอบางขุนเทียน ทิศตะวันตกจดคลองด่าน ทิศเหนือจดคลองบางกอกใหญ่ ท้องที่อำเภอนี้ ตอนริมคลองบางกอกใหญ่มีโรงสีและตลาดสำคัญคือตลาดพลู นอกจากนี้มีสวนผลไม้ต่าง ๆ และมีของสวนที่สำคัญขึ้นชื่อคือพลู ในท้องที่อำเภอนี้และอำเภอบางขุนเทียนมีการปลูกพลูตามร่องสวนมาก ตลาดพลูจึงเป็นศูนย์กลางของพลู อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้
(ข) อำเภอชั้นนอก 3 อำเภอ คือ :
 
(1) อำเภอตลิ่งชัน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองตลิ่งชัน (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ข้ามทางรถไฟสายบางกอกน้อย แบ่งท้องที่เป็นตำบล 8 ตำบล มีพลเมืองราว 14,671 คน อาณาเขตต์ของอำเภอนี้คือ อาณาเขตต์ต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภอนี้คือ อาณาเขตต์ต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภอบางกอกน้อยและอำเภอบางพลัด ตอนริมคลองบางกอกน้อย ริมคลองตลิ่งชัน และริมคลองบางระมาด (ตอนจะออกคลองบางกรวยและแม่น้ำอ้อม) มีสวนผลไม้ ส่วนหนึ่งของบางบำหรุซึ่งขึ้นชื่อว่ามีสัปปะรดดีก็มาขึ้นอยู่ในอำเภอนี้ ตอนนอก ๆ ออกไปเป็นท้องนาและไร่ผักจนจดจังหวัดนครปฐมมณฑลนครชัยศรี ริมทางรถไฟสายใต้มีไร่ผักซึ่งพวกจีนไปทำอยู่มาก ในอำเภอนี้มีสถานีชุมทางหรือทางแยกของรถไฟสายใต้มาข้ามสะพานพระราม 6 เข้ามายังสถานีกรุงเทพฯ
 
(2) อำเภอภาษีเจริญและกิ่งหนองแขม ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดรางบัวริมคลองภาษีเจริญตอนใน อยู่จังหวัดพระนครจะไปยังที่ว่าการอำเภอนี้ คือลงเรือยนตร์ซึ่งเดิรในคลองบางกอกใหญ่ไปขึ้นที่ประตูน้ำภาษีเจริญ มีทางเดิรไปยังวัดรางบัวก็ถึงที่ว่าการอำเภอทีเดียว และยังมีกิ่งอำเภอหนองแขมขึ้นอำเภอภาษีเจริญอีกกิ่งหนึ่ง ตั้งที่ว่าการกิ่งที่ริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือตำบลหนองแขม รวมตำบลทั้งอำเภอมี 13 ตำบล มีพลเมืองราว 32,139 คน อาณาเขตต์ทางทิศเหนือต่อกับอำเภอตลิ่งชัน มีคลองบางเชือกหนังเป็นอาณาเขตต์ ทางทิศใต้และทิศตะวันตกจดจังหวัดสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรี ทิศตะวันออกจดอำเภอบางยี่เรือและอำเภอบางขุนเทียน ท้องที่อำเภอนี้ตามคลองตอนในมีสวนผลไม้ต่าง ๆ มาก ตอนนอกเป็นท้องนาทั้งสิ้น
 
(3) อำเภอบางขุนเทียน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ข้างวัดราชโอรส (วัดจอมทอง) ริมทางรถไฟสายท่าจีน หรือริมคลองด่านตอนจะออกสามแยกคลองด่าน คลองดาวคะนองและคลองมหาชัยต่อกัน อยู่จังหวัดพระนครจะไปที่ว่าการอำเภอนี้ ต้องขึ้นรถไฟสายท่าจีนที่ปากคลองสาน หรือไปเรือในคลองบางกอกใหญ่ขึ้นรถไฟที่ตลาดพลูไปลงที่สถานีวัดจอมทองก็ถึงที่ว่าการอำเภอทีเดียว แบ่งท้องที่เป็นตำบล 13 ตำบล มีพลเมืองราว 26,586 คน อาณาเขตต์อำเภอนี้อยู่ทางใต้ของอำเภอบางยี่เรือและอำเภอภาษีเจริญ ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอคลองสานและอำเภอบุคคโล ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่มีสวนมากและมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อคือ ส้มเขียวหวานที่ตำบลบางมดก็อยู่ในท้องที่อำเภอนี้
จะเห็นได้ว่า สภาพของฝั่งธนบุรีนั้นมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์แต่อย่างใด จนกระทั่วคราวสมโภชพระนครครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เชื่อมการคมนาคมระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันออกกับฝั่งธนบุรี ระหว่างการดำเนินงานสร้างสะพานกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการตัดถนนฝั่งธนบุรีทั้งสายใหญ่และสายเล็กรวม 10 สาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาสู่สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ได้ ฝั่งธนบุรี จึงเริ่มมีความเจริญเยี่ยงฝั่งตะวันออกแต่นั้นมา
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2474 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัดลงเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกาศครั้งนี้ สำหรับท้องที่ในกรุงเทพพระมหานคร จังหวัดมีนบุรี และจังหวัดพระประแดงถูกยุบลงเป็นอำเภอ โดยจังหวัดมีนบุรียุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพระนคร เว้นท้องที่อำเภอหนองจอกให้ไปขึ้นกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนจังหวัดพระประแดงยุบลงเป็นอำเภอไปขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ เว้นอำเภอราษฎร์บูรณะให้ไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2475 ก็ได้มีประกาศโอนอำเภอหนองจอกมาขึ้นกับจังหวัดพระนครอีกอำเภอหนึ่ง
ในพุทธศักราช 2476 ได้มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยามขึ้น ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลให้มณฑลเทศาภิบาลต้องยกเลิกไป การบริหารราชการของแต่ละจังหวัดจึงขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยโดยตรงทุกจังหวัด
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ และเทศบาลนครธนบุรีขึ้นในปีพุทธศักราช 2479 มีผลทำให้มีการจัดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดขึ้นในลักษณะของ “เทศบาล”
ขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ และเขตเทศบาลนครธนบุรี ต่อมาได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงขยายออกไปอีกหลายครั้งให้เหมาะสมแก่ความเจริญของบ้านเมือง ส่วนเขตพื้นที่ของจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ต่อมาในพุทธศักราช 2514 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช รัชกาลปัจจุบัน คณะปฏิวัติซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งจังหวัดและเรียกว่า “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ตำแหน่งผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพฯ และเทศบาลนครธนบุรี เป็นเทศบาลสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและเรียกว่า “เทศบาลนครหลวง” เขตการปกครองกรุงรัตนโกสินทร์จึงรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นนครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีพื้นที่ 1,568.74 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 980,462.5 ไร
กรุงรัตนโกสินทร์ได้รับขนานนามว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเพียง 1 ปี ก็ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ให้เรียกนครหลวงของอาณาจักรไทยว่า “กรุงเทพมหานคร” มีฐานะเป็นจังหวัด มี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นมหานคร มีประชากรอยู่หนาแน่นและเป็นศูนย์รวมของกิจการต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปการปกครองและการบริหารให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อให้การพัฒนานครหลวงกรุงเทพธนบุรีมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวได้ระบุให้มีสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง มีจำนวนเท่ากับจำนวนเขตในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณา ร่างข้อบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเทศกิจจานุเบกษาของกรุงเทพมหานครแล้วให้ใช้บังคับได้ พื้นที่กรุงเทพมหานครให้แบ่งออกเป็นเขต มีหัวหน้าเขตเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการภายในเขต
อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครนี้ ยังมีขนาดเท่าเดิมคือ 1,568.74 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็นเขตรวม 24 เขต คือ (1) พระนคร (2) ดุสิต (3) พญาไท (4) พระโขนง (5) หนองจอก (6) ลาดกระบัง (7) บางเขน (8) ห้วยขวาง (9) บางกะปิ (10) มีนบุรี (11) ยานนาวา (12) ปทุมวัน (13) ป้อมปราบศัตรูพ่าย (14) สัมพันธวงศ์ (15) บางรัก) (เขตที่ 1 - 15) อยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นอำเภอในท้องที่จังหวัดพระนคร) (16) ธนบุรี (17) คลองสาน (18) ราษฎร์บูรณะ (19) บางกอกน้อย (20) บางกอกใหญ่ (21) ตลิ่งชัน (22) บางขุนเทียน (23) หนองแขม (24) ภาษีเจริญ (เขตที่ 16 - 24 อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นอำเภอในท้องที่จังหวัดธนบุรี)
อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครนี้ ยังมีขนาดเท่าเดิมคือ 1,568.74 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็นเขตรวม 24 เขต คือ (1) พระนคร (2) ดุสิต (3) พญาไท (4) พระโขนง (5) หนองจอก (6) ลาดกระบัง (7) บางเขน (8) ห้วยขวาง (9) บางกะปิ (10) มีนบุรี (11) ยานนาวา (12) ปทุมวัน (13) ป้อมปราบศัตรูพ่าย (14) สัมพันธวงศ์ (15) บางรัก) (เขตที่ 1 - 15) อยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นอำเภอในท้องที่จังหวัดพระนคร) (16) ธนบุรี (17) คลองสาน (18) ราษฎร์บูรณะ (19) บางกอกน้อย (20) บางกอกใหญ่ (21) ตลิ่งชัน (22) บางขุนเทียน (23) หนองแขม (24) ภาษีเจริญ (เขตที่ 16 - 24 อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นอำเภอในท้องที่จังหวัดธนบุรี)
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2518 จึงได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นทบวงการเมืองมาจนปัจจุบัน
แหล่งที่มาของข้อมูล : คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพุทธศักราช 2525,
จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากร, 2525
กรุงเทพมหานคร. จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 36-38