เมื่อพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการทั่วราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ประกาศใช้บังคับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ ได้แก่ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้เป็นจังหวัดและอำเภอ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยกเลิกมณฑลไปโดยสิ้นเชิง เป็นเหตุให้มณฑลกรุงเทพยกเลิกไปด้วย คงเหลือเป็นเพียงจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีที่มีการปกครองต่างกับจังหวัดอื่น ๆ ตามสภาพภูมิประเทศและความสำคัญ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง
ต่อมาในปีเดียวกันนี้เอง ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ขึ้น สาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อการปกครองกรุงเทพ ก็คือ ความในมาตรา 48 กำหนดไว้ว่า ท้องถิ่นซึ่งอาจยกฐานะเป็นเทศบาลนครได้ ต้องมีราษฎรตั้งแต่ 3 หมื่นคนขึ้นไปและอยู่กันอย่างหนาแน่นคิดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 พันคนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 โดยอาศัยความมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2479 และจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2480 แต่เทศบาลเริ่มเปิดดำเนินงานในวันที่ 27
พฤษภาคม 2480 เช่าบ้านของคุณหญิงลี้นจี่ สุริยานุวัติ ที่ถนนกรุงเกษมเป็นสำนักงาน มีพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก แต่สถานที่ไม่อำนวยให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปรวมอยู่ได้ทั้งหมด เช่น กองโยธา กองรักษาความสะอาดต้องแยกอยู่ที่อื่น กองสาธารณสุขยังอยู่ในกระทรวงมหาดไทย การติดต่องานจึงไม่สะดวกและเปลืองค่าเช่าสถานที่ ในเดือนมกราคม 2484 เทศบาลได้ย้ายสำนักงานจากถนนกรุงเกษม มาตั้งที่ตำบลเสาชิงช้าอันเป็นที่ตั้งศาลาว่าการกรุงเทพนครปัจจุบัน
เทศบาลนครกรุงเทพมีฐานะเป็นทบวงการเมือง และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย อาณาเขตของเทศบาลในตอนแรกก่อตั้งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2479 มีเพียง 50.778 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล พ.ศ. 2485 เพิ่มอาณาเขตจากเดิมเป็น 72.156 ตารางกิโลเมตร ใน พ.ศ. 2497 มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงขยายอาณาเขตจากเดิมเป็น 124.747 ตารางกิโลเมตร และมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 รวมตลอดเขตเทศบาลนครกรุงเทพ มีจำนวนเนื้อที่ 238.567 ตารางกิโลเมตร ประชากรในเขต 2,349,215 คน (สถิติ พ.ศ. 2514)
หน่วยงานของเทศบาลในตอนเริ่มก่อตั้ง คงมีเพียงสำนักปลัดเทศบาล สภานคร กองคลัง และกองผลประโยชน์เท่านั้น หน่วยงานที่เรียกว่า “สภานคร” ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการสภาเทศบาล มีเลขานุการสภาเป็นหัวหน้าขึ้นตรงต่อประธานสภาเทศบาล ต่อมาเทศบาลได้โอนกิจการของหน่วยราชการบางแห่งมาบริหารตามกฎหมายที่ออกมาตามลำดับ ดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกามอบสิทธิกิจการบางส่วนตลอดทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรมโยธาเทศบาลกระทรวงมหาดไทย ให้เทศบาลนครกรุงเทพจัดทำ พ.ศ. 2479 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมอบสิทธิกิจการตลอดทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกองช่างนคราทร ยกเว้นแผนกกำจัดอุจจาระและสิทธิกิจการ ตลอดทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกองถนน ยกเว้นแผนกโรงฆ่าสัตว์ให้แก่เทศบาล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2480
2. พระราชกฤษฎีกามอบสิทธิกิจการบางส่วนในกรมสาธารณสุข กรมตำรวจ และกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย ให้เทศบาลนครกรุงเทพจัดทำ พ.ศ. 2480 มีหน่วยงานที่มอบมาตามกฎหมายฉบับนี้ คือ
1) กองสาธารณสุขพระนคร เดิมสังกัดกรมสาธารณสุข (ยกเว้นกิจการอันเกี่ยวกับลหุโทษ)
2) โรงพยาบาลกลาง เดิมสังกัดกรมสาธารณสุข
3) วชิรพยาบาล เดิมสังกัดกรมสาธารณสุข
4) กองตำรวจเทศบาล เดิมสังกัดกรมตำรวจ (นอกจากแผนกยานพาหนะพระนครและธนบุรี และแผนกยานพาหนะหัวเมือง)
5) แผนกกำจัดอุจจาระ เดิมสังกัดกรมโยธาเทศบาล
6) แผนกโรงฆ่าสัตว์ เดิมสังกัดกรมโยธาเทศบาล
ทั้งนี้ กฎหมายระบุให้เทศบาลรับมอบมาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นไป ในข้อเท็จจริง เทศบาลได้รับโอนกิจการเหล่านี้มาภายหลังเวลาที่กำหนดในกฎหมาย ส่วนข้าราชการที่โอนติดมากับกิจการ ก็ถือว่าคงมีฐานะเป็นข้าราชการซึ่งรัฐบาลสั่งให้มาทำงานของเทศบาล
เมื่อเทศบาลรับมอบกิจการต่างๆ จากรัฐบาลมาแล้ว จึงได้แบ่งหน่วยงานบริหารออกไปในระยะแรกดังนี้
1. สภานคร
2. สำนักปลัดเทศบาล
3. กองคลัง
4. กองผลประโยชน์
5. กองช่าง
6. กองถนน
7. กองสาธารณสุขพระนคร
8. กองตำรวจเทศบาล (ประกอบด้วยแผนกดับเพลิง แผนกตำรวจจราจร และแผนกตำรวจสุขาภิบาล)
9. วชิรพยาบาล
10.โรงพยาบาลกลาง
สำหรับสภานครนั้น ภายหลังได้ยุบรวมอยู่ในสำนักปลัดเทศบาล และมีเจ้าหน้าที่ในสำนักปลัดเทศบาลทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาเทศบาลนครกรุงเทพ ส่วนกองช่าง เปลี่ยนชื่อภายหลังเป็นกองการโยธา กองถนนเป็นกองรักษาความสะอาด
นอกจากนี้ ยังมีกิจการสาธารณะที่เทศบาลนครกรุงเทพได้ดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกกิจการบางอย่างไป รับโอนมาดำเนินการเพิ่มเติม รวมทั้งโอนบางกิจการให้แก่รัฐบาลไปดำเนินการ ดังนี้
กิจการที่ยกเลิก ได้แก่ การเดินรถประจำทาง (พ.ศ.2496) การตั้งโรงพิมพ์ (ขายกิจการให้กรมตำรวจเมื่อ พ.ศ.2500)
กิจการที่รับโอนมาและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ รับโอนสวนสาธารณะ 2 แห่ง (เขาดินวนาจากสำนักพระราชวัง ต่อมาโอนกิจการให้แก่องค์การสวนสัตว์ ใน พ.ศ. 2497 และสวนลุมพินี จากกรมโยธาเทศบาล ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร) การฆ่าสัตว์ (รับโอนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2490 ยังดำเนินการอยู่ในรูปของบริษัท สามัคคีค้าสัตว์ จน พ.ศ. 2532)
กิจการที่โอนให้รัฐบาลดำเนินการ ได้แก่ การประปา (รับโอนจากกรมโยธาเทศบาล ใน พ.ศ. 2482 โอนให้รัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2495) การดับเพลิง (รับโอนจากกรมโยธาเทศบาล ใน พ.ศ. 2482 โอนให้รัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2495) และกิจการสวนสัตว์ (กรณี "เขาดินวนา" โอนเมื่อ พ.ศ. 2497)
พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พุทธศักราช 2479 ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ฯ ตราไว้ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2479 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2480 เป็นต้นไป
ให้จัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476
1. พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พุทธศักราช 2479
2. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี เป็นเทศบาลสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เรียกว่า “เทศบาลนครหลวง”
3. ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ประกาศ ณ วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515
4. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518
5. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
นอกจากนี้ยังมี กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516
2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522
3. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
สำหรับในช่วงของเทศบาลที่ผ่านมามีกฎหมายแม่บทที่เป็นหลักในการบริหารตามลำดับ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481
2. พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2486
3. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
ยุคของการปกครองในรูปเทศบาล องค์กรฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะเทศมนตรี ซึ่งจะมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารเทศบาล นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ.2510 มีคณะเทศมนตรีเข้ามาบริหารรวมทั้งสิ้น 16 ชุด คำว่าคณะเทศมนตรีนั้น แต่เดิมเรียกว่า “คณะมนตรี” การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน คือ
กฎหมายเทศบาลฉบับแรก พ.ศ.2476 ได้นำเอาแบบอย่างการแต่งตั้งและการเข้าดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2475 มาใช้ กล่าวคือ กำหนดให้ข้าหลวงประจำจังหวัด (ปัจจุบันเรียกผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ตั้งคณะเทศมนตรีโดยให้ประธานสภาเทศบาลลงนามรับสนองในหนังสือแต่งตั้ง และเมื่อคณะมนตรีได้รับแต่งตั้งแล้วจะต้องแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจจากเทศบาลด้วย เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้วจึงจะเข้าบริหารงานได้
เมื่อได้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายเทศบาลฉบับปี 2481 แทนฉบับปี 2476 จึงได้เปลี่ยนคำว่าคณะมนตรี มาเป็น “คณะเทศมนตรี” ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และวิธีการแต่งตั้งคณะเทศมนตรีก็เปลี่ยนไปด้วย คือ กำหนดให้สภาเทศบาลเป็นผู้เลือกตั้งนายกเทศมนตรี แล้วนายกเทศมนตรีจึงเลือกเทศมนตรีในคณะของตนด้วยความเห็นชอบของสภา ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามในประกาศแต่งตั้ง การแถลงนโยบายต่อสภาเพื่อรับความไว้วางใจจึงไม่ต้องกระทำ เพราะสภาเป็นผู้เลือกนายกเทศมนตรีเข้ามาเองอยู่แล้ว
ต่อมาเมื่อใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2486 วิธีการแต่งตั้งคณะเทศมนตรีได้เปลี่ยนแปลงไปอีก คือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีทั้งคณะด้วยความเห็นชอบของสภาเทศบาล จนกระทั่ง เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แล้ว การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีก็คงเป็นไปอย่างเดิม แต่มีส่วนที่ได้เปลี่ยนแปลงไปก็คือ การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีกำหนดให้แต่งตั้งจากสมาชิกสภาทั้งหมด จะตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกหาได้ไม่ ซึ่งผิดกับกฎหมายเทศบาลฉบับเก่าๆ คือยอมให้ตั้งเทศมนตรีจากบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกสภาได้กึ่งจำนวน
ในช่วงที่แม้จะมีพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ใช้บังคับอยู่ก็ตามแต่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 40 ซึ่งประกาศใช้ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2502 ออกมาใช้บังคับเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะเทศมนตรี ซึ่งมีวิธีการผิดแผกกันไปดังนี้ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ตั้งคณะเทศมนตรี ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย และจะแต่งตั้งบุคคลใดๆ ก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นสมาชิกทั้งหมดหรือเป็นบุคคลภายนอกกึ่งจำนวนเหมือนกับกฎหมายเทศบาลเก่า ๆ
การบริหารงานของคณะเทศมนตรีแต่ละชุดมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกันไป ซึ่งบางชุดอยู่ในตำแหน่งจนครบกำหนดออกตามวาระ แต่ในชุดปัจจุบันซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2501 ให้ดำรงตำแหน่งชั่วคราว ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติออกใช้ ตั้งแต่ 2 มกราคม 2502 ซึ่งกำหนดให้คณะเทศมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งไว้ชั่วคราวนี้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลฉบับใหม่ออกมาใช้แทน
ก่อนเปลี่ยนเป็นการปกครองกรุงเทพมหานครประมาณ 1 ปี มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 25 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2514 ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี เป็นเทศบาลนครหลวงมีผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพมหานครธนบุรี เป็นนายกเทศมนตรีโดยตำแหน่ง
ต่อมา เมื่อมีการประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งและถอดถอนโดยคณะรัฐมนตรี และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ฉบับ พ.ศ.2518 และ พ.ศ.2528 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะมาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาช
ตามปกติกฎหมายกำหนดให้เทศบาลอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็มuข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้ารัฐบาลเห็นควรจะให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงก็กระทำได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และตามประวัติเทศบาลนครกรุงเทพได้เคยอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงมาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2486 ต่อมาในปี 2487 ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกลับไปอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครตามเดิม
ครั้งที่ 2 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2496 มีเหตุผลในครั้งนี้ว่า เทศบาลนครกรุงเทพเป็นการบริหารเทศบาลอันเป็นที่ตั้งนครหลวง มีปริมาณงานเพิ่มขึ้น มีรายได้มาก มีฐานะเทียบเท่าทบวงการเมือง ถ้าจะให้อยู่ในความควบคุม ดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด การควบคุมก็จะไม่ได้ส่วนสัมพันธ์กับความสำคัญของเทศบาลและทำให้งานล่าช้า จึงจำเป็นต้องให้อยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง แต่ต่อมาในปี 2498 ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2496 นี้ กลับไปขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดดังเดิม โดยมีเหตุผลปรากฎในหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกาว่า เนื่องจากราชการบริหารส่วนภูมิภาคและราชการบริหารส่วนท้องถิ่นควรจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นการสมควรที่จะให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ สมควรที่จะให้ควบคุมดูแลเทศบาลเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งย่อมเป็นผลดี ในการที่มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ส่วนจังหวัดรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงในชั้นต้นมาให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาวินิจฉัยยิ่งขึ้น
ในปี 2502 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทย และให้มีผลนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า “เนื่องจากการปฏิบัติงานของเทศบาลนครกรุงเทพรและเทศบาลนครธนบุรีในขณะนี้ต้องการความรวดเร็ว และการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยราชการอื่นๆ ทั้งนโยบายในการบริหารในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีก็ได้มีการพิจารณาจัดเป็นรูปการปกครองนครหลวงอยู่แล้ว จึงควรให้เทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีอยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง” น
ต่อมา นับตั้งแต่เปลี่ยนจากการปกครองแบบเทศบาลมาเป็นการปกครองกรุงเทพมหานครตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515 การปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษของกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน มิได้อยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป แต่กฎหมายกำหนดให้เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุมดูแลเท่านั้น และทั้งฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภากรุงเทพมหานคร ก็มาจากการเลือกตั้ง
นอกจากเทศบาลนครกรุงเทพจะบริหารงานโดยมีส่วนราชการรับผิดชอบต่ออำนาจหน้าที่แต่ละด้านแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานบริหารแยกเป็นหน่วยอิสระภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลนครกรุงเทพอีกส่วนหนึ่งภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ดังต่อไปนี้
1. สำนักงานปุ๋ย มีชื่อเดิมว่าโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เทศบาลนครกรุงเทพ ก่อตั้งเมื่อปี 2504 มีหน้าที่ทำลายขยะที่เก็บขนจากพระนครและธนบุรี และนำผลพลอยได้จากขยะผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โรงงานนี้ก่อสร้างโดย บริษัท John Thomson Industrial Construction Ltd. ประเทศอังกฤษ ค่าก่อสร้างในขณะนั้น 42 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 700 วัน ต่อมาในปี 2506 กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานของสำนักงานปุ๋ย เทศบาลนครกรุงเทพ พ.ศ.2507 ขึ้น โดยระเบียบนี้จึงเปลี่ยนชื่อจาก โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ เป็นสำนักงานปุ๋ยเทศบาลนครกรุงเทพ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่บริเวณที่ดินของเทศบาลนครกรุงเทพ ถนนดินแดง ตำบลสามเสนในอำเภอพญาไท
วันที่ 28 สิงหาคม 2538 ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 3183/253 ให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานปุ๋ย และเลิกจ้าง 62 คน ตั้งแต่ 1 กันยายน 2538 ถัดมาในวันที่ 5 ตุลาคม 2538 ก็ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 3563/2538 ให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานปุ๋ยเพิ่มเติมอีก 37 คน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เนื่องจากประสบปัญหาในการบริหารกิจการ เป็นอันว่าโรงงานปุ๋ยหยุดกิจการไปโดยปริยายจนถึงทุกวันนี้
2. สำนักงานบริการจัดสวนไม้ประดับ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าถ้าได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนในเขตเทศบาลตกแต่งบริเวณบ้านให้มีสวนไม้ประดับ จะเพิ่มความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ส่วนมากยังขาดความเข้าใจในวิธีการตกแต่ง และเลือกพันธุ์ไม้ หากจะจ้างผู้เชี่ยวชาญดำเนินการเป็นรายบุคคล ก็สิ้นเปลืองมากเทศบาลนครกรุงเทพร จึงได้จัดให้มีบริการในเรื่องจัดสวนไม้ประดับและการตกแต่งบริเวณขึ้น โดยเรียกเก็บค่าบริการในราคาพอสมควร ทั้งนี้ได้ตั้งเป็นสำนักงานขึ้น เรียกว่า สำนักงานบริการจัดสวนไม้ประดับ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2506 มีการดำเนินงานในรูปคณะกรรมการ และสำนักงานนี้ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อสิ้นยุคเทศบาล
3. สำนักงานโรงงานช่างกล (ส.ช.ก.) กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้เทศบาลนครกรุงเทพจัดตั้งโรงงานซ่อมยานพาหนะที่บริเวณทุ่งสามเสนในถนนดินแดง อำเภอพญาไท มีเนื้อที่ 18,600 ตารางเมตร โดยได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทโตโยต้า (ไทยแลนด์) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,951,740 บาท นับเป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น ปัจจุบันขึ้นกับกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง
4. สำนักงานกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล (ส.ม.ส.) สำนักงานกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล จัดตั้งโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานของสำนักงานกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เทศบาลนครกรุงเทพ ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2506 โดยรับโอนงานของแผนกกำจัดมูลฝอย และแผนกกำจัดอุจจาระ กองรักษาความสะอาด กับกิจการด้านการทำลายขยะมูลฝอยและผลิตปุ๋ยของโรงงานปุ๋ยอินทรีย์มาดำเนินกิจการเรื่อยมา จนกระทั่งในช่วงต้น ๆ ของกรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2516 สำนักงานนี้ได้ถูกยกเลิกไปและโอนงานไปขึ้นกับฝ่ายรักษาความสะอาด แยกเป็นหน่วยงานระดับกอง ได้แก่ กองกำจัดมูลฝอย กองกำจัดสิ่งปฏิกูล และกองโรงงานกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
5. สำนักงานกลางปรับปรุงแหล่งชุมชน ( ส.ปลช. ) สำนักงานกลางปรับปรุงแหล่งชุมชน ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2503 วัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งครั้งแรก เพื่อให้เป็นหน่วยดำเนินงานปรับปรุงแหล่งชุมชนบริเวณหน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทย และเทศบาลนครกรุงเทพร่วมกันดำเนินการ เมื่องานที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการคือ การปรับปรุงแหล่งชุมชนบริเวณหน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน และบริเวณท่าวาสุกรีเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว แต่ทางสำนักงานยังมีงานต้องดำเนินการต่อไป อันเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับปรุงแหล่งชุมชนทั้งสองแห่งดังกล่าว งานนี้จึงตกเป็นหน้าที่ของเทศบาลนครกรุงเทพ และต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้โอนกิจการทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดของสำนักงานนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดสรร ที่ดินและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม ให้แก่การเคหะแห่งชาติ สำนักงานนี้ก็ยุบเลิกไปโดยปริยาย เมื่อมีการปรับปรุงส่วนราชการเมื่อปี 2517 ได้ตั้งสำนักสวัสดิการสังคมขึ้น
6. สถานธนานุบาลเทศบาลนครกรุงเทพ เทศบาลนครกรุงเทพได้เริ่มจัดตั้งสถานธนานุบาลขึ้นโดย เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง อนุญาตให้เทศบาลนครกรุงเทพทำการเทศพาณิชย์เกี่ยวแก่การจัดตั้งสถานธนานุบาล (โรงจำนำ) พ.ศ. 2505 ซึ่งต่างจากหน่วยงานในกำกับดูแลของเทศบาลนครกรุงเทพที่กล่าวมาแล้ว ได้จัดตั้งขึ้นโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทย กิจการสถานธนานุบาลยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคกรุงเทพมหานครปัจจุบัน มีจำนวนรวม 18 แห่ง ในปี พ.ศ. 2540 ได้แก่
 
6.1 สถานธนานุบาลคลองเตย
 
6.2 สถานธนานุบาลประดิพัทธ์
 
6.3 สถานธนานุบาลดินแดง
 
6.4 สถานธนานุบาลสำราญราษฎร์
 
6.5 สถานธนานุบาลเทเวศร์
 
6.6 สถานธนานุบาลบางซื่อ
 
6.7 สถานธนานุบาลพระโขนง
 
6.8 สถานธนานุบาลวงเวียนเล็ก
 
6.9 สถานธนานุบาลบางกอกใหญ่
 
6.10 สถานธนานุบาลลาดพร้าว
 
6.11 สถานธนานุบาลมีนบุรี
 
6.12 สถานธนานุบาลตลาดพลู
 
6.13 สถานธนานุบาลถนนเสือป่า
 
6.14 สถานธนานุบาลราษฎร์บูรณะ
 
6.15 สถานธนานุบาลท่าพระ
 
6.16 สถานธนานุบาลบางบอน
 
6.17 สถานธนานุบาลดอนเมือง
 
6.18 สถานธนานุบาลหนองจอก
7. โรงงานฆ่าสัตว์ การดำเนินกิจการค้าและฆ่าสัตว์ของเทศบาลนคร มีความเป็นมาดังนี้ เริ่มจากได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด เมื่อปี 2498 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีพลตรีประภาส จารุเสถียร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรม ให้ดำเนินการจัดสร้างโรงงานฆ่าสัตว์ด้วยเครื่องจักรทันสมัยที่ซอยกล้วยน้ำไท ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงงานฆ่าสัตว์เดิมของเทศบาล โดยกำหนดให้เทศบาลนครกรุงเทพ กับเทศบาลนครธนบุรี ร่วมกับบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด และให้เทศบาลนครกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้าน บริษัท ฯ ได้ดำเนินกิจการเรื่อยมา ในช่วงตั้งแต่ปี 2504 – 2511 บริษัทได้รับสิทธิ์ผูกขาดการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ภายในเขตกรุงเทพมหานครแต่เพียงผู้เดียว มีกำไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 18 ล้านบาท และ นับตั้งแต่ ปี 2511 เป็นต้นมา รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเป็นการค้าเสรีแบบเปิดเขต ปรากฏว่าผลการดำเนินการขาดทุนสุทธิเฉลี่ยปีละ 4 ล้านบาท และมีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มขึ้น ในที่สุดกรุงเทพมหานครได้ยกเลิกดำเนินการโรงงานฆ่าสัตว์ของบริษัท สามัคคีค้าสัตว์ เมื่อ 15 มีนาคม 2537 และได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจากบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด เป็น บริษัท กรุงเทพมหานครธนาคม จำกัด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537 เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการให้บริการและการจัดการงานสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวไว้ในสารแนะนำบริษัท ฯ ว่า “…กรุงเทพมหานครธนาคม บริษัทของกรุงเทพมหานครที่มีการจัดการแบบเอกชน จะเป็นเครื่องมือการดำเนินงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน และต้องการความฉับไว นับเป็นภาระที่มีความสำคัญอันยิ่งยวดแก่กรุงเทพมหานคร…”
8. สำนักงานตลาด สำนักงานตลาดก่อตั้งโดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 105/2506 เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2504 ซึ่งให้เทศบาลนครกรุงเทพ รับมอบองค์การตลาดจากกระทรวงเศรษฐการมาดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ ประชาชนให้มีสถานที่ประกอบอาชีพทำมาค้าขาย ปัจจุบันมีตลาดอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน ตลาดกรุงเทพมหานคร 14 แห่ง ซึ่งดำเนินกิจการภายใต้ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานตลาด ดังนี้ :-
 
8.1 ตลาดเทวราช (เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขตดุสิต
 
8.2 ตลาดผดุงกรุงเกษม (เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
 
8.3 ตลาดพระเครื่องพญาไม้ เขตคลองสาน
 
8.4 ตลาดประชานิเวศน์ เขตจตุจักร
 
8.5 ตลาดมหาโชค (รับมอบจากการเคหะแห่งชาติ) เขตดินแดง
 
8.6 ตลาดอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย
 
8.7 ตลาดบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน
 
8.8 ตลาดราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ
 
8.9 ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ
 
8.10 ตลาดมีนบุรี เขตมีนบุรี
 
8.11 ตลาดหนองจอก เขตหนองจอก
 
8.12 ตลาดโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ ติดต่อ เขตดุสิต
 
8.13 ตลาดสิงหา หรือ ตลาดใต้สะพานพระโขนง เขตพระโขนง
 
8.14 ตลาดรัชดาภิเษก เขตธนบุรี
9. ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (จตุจักร) ในสมัยเทศบาลได้มีการจัดตลาดนัดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง เรียกว่า “ ตลาดนัดสนามหลวง ” เริ่มเมื่อปี 2491 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้มีตลาดนัดทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดพระนครก็ได้เลือกสถานที่จัดตลาดนัดขึ้นที่บริเวณท้องสนามหลวงดังกล่าว ต่อมาในปี 2492 ทางราชการจำเป็นต้องใช้ท้องสนามหลวง จึงได้ย้ายไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ จนถึงปี 2500 หลังจากนั้นได้ย้ายไปตั้งอยู่บริเวณสนามไชยเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2500 แต่เนื่องจากสนามชัยคับแคบ จึงได้ย้ายกลับไปที่สนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2501 ต่อมาในปี 2521 สมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเป็นสถานที่จัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และจัดงานรัฐพิธีต่าง ๆ ประจวบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินย่านพหลโยธิน ต่อจากสวนจตุจักรด้านทิศใต้ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์จำนวน 74.57 ไร่ ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2522 กรุงเทพมหานครจึงปรับปรุงสถานที่ดังกล่าวเพื่อรองรับผู้ค้าที่จะย้ายออกจากสนามหลวงด้วยงบประมาณ 42 ล้านบาท การดังกล่าวได้รับการคัดค้านและต่อต้านจากกลุ่มผู้ค้าตตลาดนัดสนามหลวง แต่ก็สามารถย้ายผู้ค้าได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2525 ใช้ชื่อว่า“ตลาดนัดย่านพหลโยธิน ” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ ตลาดนัดจตุจักร” ซึ่งพ้องกับนามพระราชทาน สวนสาธารณะจตุจักร เมื่อปี 2530 กิจการตลาดนัดจตุจักรได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคพื้นเอเชียและของโลกก็ว่าได้ มีชื่อเสียงแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในชื่อของ “J.J.Market ” ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าไปเยือน และซื้อสินค้าอยู่ตลอดเวลา นอกจากตลาดนัดจตุจักรแล้ว ยังมีตลาดจตุจักร 2 หรือตลาดนัดเมืองมีน เชื่อมระหว่าง ถนนสุวินทวงศ์ และถนนสีหบุรานุกิจ
- นายวิญญู อังคณารักษ์ นายกเทศมนตรี คนที่ 19 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514
- พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ) นายกเทศมนตรี คนแรก ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2840
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โประ สมาหาร) นายกเทศมนตรี คนที่ 2 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2481
- พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรี คนที่ 3และ4 ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2481 ปฏิบัติงานจนครบวาระ ได้รับการแต่งตั้งครั้งที่ 2เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2483
- พันเอก หลวงชาญสลคราม (กฤษณ์ ชาลีจันทร์) นายกเทศมนตรี คนที่ 5 และ 6 ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2487 แล้วลาออกได้รับการแต่งตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2487
- นายประพัฒน์ วรรธนะสาร นายกเทศมนตรี คนที่ 7 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2488
- นายประสิทธิ์ สมิตะศิริ นายกเทศมนตรี คนที่ 8 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2492
- หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ (สิระ ยุกะเสรี) นายกเทศมนตรี คนที่ 9 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2492
- ร้อยตำรวจโท ขุนเลิศดำริห์การ (เลิศ เลิศดำริห์การ) นายกเทศมนตรี คนที่ 10 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2493
- พระยารามราชภักดี (หม่อมหลวง สวัสดิ์ อิศรางกูร) นายกเทศมนตรี คนที่ 11 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2496
- พลเอก มังกร พรหมโยธี นายกเทศมนตรี คนที่ 12 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2496
- นายชำนาญ ยุวบรูณ์ นายกเทศมนตรี คนที่ 13 และ16 ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2501 ได้รับการแต่งตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2501
- พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร นายกเทศมนตรี คนที่ 17 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2511
- ร้อยโท ถวิล ระวังภัย นายกเทศมนตรี คนที่ 18 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2513
- นายวิญญู อังคณารักษ์ นายกเทศมนตรี คนที่ 19 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514
แหล่งที่มาของข้อมูล : สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร, 2542."จากเทศบาลสู่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร" หน้าที่ 20-50 และหน้าที่ 86-93